รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์นี้ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการล้างมรดก คสช. เนื่องจากทางไอลอว์ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการ ‘รื้อมรดกคสช.’ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....ที่ เข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ได้ถึงคิวการพิจารณาและจะบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธ.ค. 2564
รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตนและพรรคก้าวไกลขอสนับสนุนร่างกฎหมายของประชาชนและการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้อยากเชิญชวนให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนติดตามการอภิปราย เพื่อช่วยกันส่งเสียงไปให้ถึง ส.ส.ในสภาทุกคน ให้มาร่วมกับประชาชนในการปลดอาวุธ คสช. ที่ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าตอนนี้ คสช. จะหมดสถานะไปแล้วในทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงยังมีวิญญาณร้ายสิงอยู่ผ่านประกาศคำสั่งทั้งหลายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ทำให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก ซึ่งช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตยก็คือ การเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก
“หากมรดกบาปเหล่านี้ยังอยู่ ประเทศไทยจะไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติ เป็นประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐได้เลย ด้วยเหตุนี้ อดีตพรรคอนาคตใหม่จึงประกาศนโยบายเรื่องจัดการ ‘มรดกบาป" คสช.’ ไว้เป็นหนึ่งในนโยบายการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 และได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร มีการ ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. และได้เสนอเข้าสู่สภา โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 62 เนื้อหาหลักใหญ่ใจความคือ ยกเลิกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสิ้น 17 ฉบับ เนื่องจากหลายฉบับมีเนื้อหาที่กระทบสิทธิมนุษยชน ขัดหลักการความยุติธรรม ขาดหลักนิติรัฐนิติธรรม และเป็นประกาศที่ออกมาช่วง คสช. ครองอำนาจ ที่ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน”
อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเข้าสู่สภาฉบับแล้วฉบับเล่า แต่สังเกตว่า ถึงปัจจุบันมีเฉพาะร่างญัตติของรัฐบาลเท่านั้นที่แทรกคิวด่วนเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ตลอดเวลา ขณะที่ ร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอโดย ส.ส.กลับยังไม่เคยถูกบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาแม้แต่ฉบับเดียว รวมถึง ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ฉบับนี้ ซึ่งโดนดองมากว่า 2 ปีแล้ว
ดังนั้น ตนจะประสานไปยัง นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เสนอต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภา ให้นำร่างของอดีตพรรคอนาคตใหม่เข้าสู่การพิจารณาไปพร้อมกับร่างของประชาชน พร้อมกันนี้ ยังอยากฝากให้เรียนแจ้งต่อทางประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่า ควรเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายที่เสนอมาจาก ส.ส.เหมือนร่างกฎหมายที่เสนอมาจากทางรัฐบาลบ้าง เพราะ ส.ส.คือ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง มีหน้าที่และพันธกิจในการนำความต้องการและมติมหาชนมาจัดทำเป็นร่างกฎหมายในฐานะตัวแทนจากประชาชน การจัดคิวและบรรจุญัตติเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจึงควรเป็นสภาที่สะท้อนการทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ใช่สภาตรายางเพื่อคอยผ่านกฎหมายของรัฐบาลเพียงเท่านั้น