ไม่พบผลการค้นหา
100 บริษัทเอกชน สัญญาให้เครดิตเทอม 30 วัน จ่ายเงินให้คู่ค้าไม่เกิน 1 เดือน นำร่องไตรมาส 4 หวังกระตุ้นสภาพคล่อง 1 แสนล้าน จี้รัฐบาล ให้ปล่อยเงินเร็วด้วย ร้องขอมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยมาตรการร่วมมือกับ 100 บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อปรับขั้นตอนการชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยทั้งหมด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563

ประธาน ส.อ.ท.ชี้ว่า ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ระยะเวลาการให้เครดิตเทอม หรือ ระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้า อยู่ที่ราว 60-120 วัน ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเผชิญปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจประเทศและโลกในปัจจุบัน 

ส๓าอุตฯแถลง
  • สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ส.อ.ท.คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยดูแลสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีได้ในวงเงินราว 1 แสนล้านบาท เนื่องจากปริมาณวงเงินหมุนเวียนของทั้ง 100 บริษัทใหญ่ที่ให้คำมั่นในการเข้าร่วมกับมาตรการดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาเป็นการเห็นชอบร่วมกันว่าบริษัทขนาดใหญ่ต้องเข้าไปช่วยคู่ค้าซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อเสริมเรื่องสภาพคล่องซึ่งมีจำนวนมากกำลังเผชิญปัญหา อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นสำคัญที่ต้องพัฒนาระบบการชำระหนี้ให้กับคู่ค้า คือรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือเงินลงทุนจำนวนมาก แต่มักเบิกจ่ายเงินให้กับคู่ค้าล่าช้าไม่ต่ำกว่า 90 วัน 

"เอกชนคือคนทำธุรกิจ แต่ภาครัฐถือภาษีของเรา" สุพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ สุพันธุ์ ยังเสริมว่าความช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมายังเข้าไม่ถึงเอสเอ็มอีได้อย่างที่ควรจะเป็นและภาครัฐควรออกมาตรการเสริมเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างไร อาทิ การพักหนี้ในฝั่งเงินต้นต่อเนื่อง 2 ปี และให้ผู้ประกอบการชำระอัตราดอกเบี้ยราว 10% ของยอดดอกเบี้ยทั้งหมด เพื่อทำให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินจะไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเรื่องสภาพคล่อง ทั้งยังเป็นการคัดกรองธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตไปในตัว 

ปัจจุบันตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ณ เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีจำนวน 2,590 ราย มีเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและกลางเพียง 36.7% ที่เข้าถึงความช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาท ขณะที่ความช่วยเหลือจากการพักชำระหนี้อยู่ที่ 10.2%

ขณะที่ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนภายใต้วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท มีการปล่อยเงินสู่เอสเอ็มอีจริงแค่ 1.1 แสนล้านบาทเท่านั้น สะท้อนชัดว่ายังมีผู้ประกอบการอีกมากที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ