ท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วกรุงเทพมหานคร ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เข้าสู่เกณฑ์อันตรายต่อสุขภาพ เมืองหลวงกำลังหม่นหมองไปด้วยมลพิษ จนผู้คนแทบมองไม่เห็นตึกระฟ้าลำดับที่ 4 ของประเทศหรือ "ใบหยก 2" กันอีกแล้ว
"ผมเคยมองเห็นไปถึงภูเขาและทะเลของชลบุรีเลยครับ ไม่น่าต่ำกว่า 150 กิโลเมตร ตอนนี้เห็นแค่ตึกมหานครที่ห่างออกไปแค่ 5 กิโลฯ" เบียร์ - ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทคนโตของ พันธ์เลิศ ใบหยก ผู้สร้างตำนานตึกสูงที่สุดในไทยไว้ถึง 2 ครั้ง บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ขณะยืนอยู่บน Sky box ชั้น 81 ของตึกชื่อเดียวกับนามสกุลของตัวเอง
ต่อไปนี้คือสิ่งที่ 'คนบนตึกสูง 304 เมตร' มองและคิดต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองที่สาดคลุ้งไปทั่ว
ปิยะเลิศ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มใบหยก กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากตึกของเขาถูกฝุ่นลักพาตัวออกไปจากสายตาของคนกรุงฯ
"เยอะ เยอะ จริงๆ เหมือนในเมืองที่มีโรงงานเยอะ เหมือนในภาพยนตร์" เขาเอ่ยถึงสถานการณ์ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์ในเชิงการท่องเที่ยวและความปลอดภัยของประเทศไทย
"ผมอยู่ตึกนี้ทุกวัน ปกติมองเห็นไปไกลมาก เห็นไปถึงทะเล ที่ห่างออกไป 100 กม.บวก ตอนนี้ระยะใกล้ 4-5 กิโลฯ ก็ทะมึนๆ แล้ว เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในฐานะคนใช้ชีวิตในเมือง ก็ไม่โอเคแน่ๆ กับสิ่งที่เป็น บ้านเรา เราก็อยากให้อากาศมันดี"
ช่วงเวลานี้ของประเทศไทยกำลังกลายเป็นเมืองที่มีผู้คนสวมใส่ 'หน้ากากอนามัย' กันเป็นปกติ
"ผมเห็นคนทำงานสวมใส่หน้ากากกันค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราคงถามว่า เป็นหวัดหรอ ตอนนี้กลายเป็นว่า ใครไม่ใส่ต้องเจอถามว่า อ้าวทำไมไม่ใส่หน้ากากล่ะ" ผู้บริหารหนุ่มบอกและว่า "ไม่ดีแน่" หากปล่อยให้อากาศแย่ เป็นความเคยชินของประเทศ
ปิยะเลิศ เล่าว่า ทุกวันนี้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคาร สวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ และจำใจลดชั่วโมงการออกกำลังกาย
"ผมเองเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วด้วย ต้องมานั่งเช็กดัชนีคุณภาพอากาศทุกวัน วันนี้ดีขึ้นไหม ก็ยังแดงอยู่ ประเทศอื่นเขาเขียวกันหมด" เขาบอกถึงผลกระทบส่วนตัวที่ทำให้ไม่ได้ออกวิ่งตามปกติ
ในเชิงธุรกิจ 'ใบหยก' ยังไม่ได้รับผลกระทบในระดับที่น่ากังวลจากปัญหา pm 2.5 ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักเป็นไปตามคาดในช่วง High Season โดยภายในอาคารมีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้บริหารเป็นห่วงมากที่สุดคือ 'ภาพลักษณ์'
"คุณมาเที่ยวแล้วต้องใส่หน้ากาก ฝรั่งหรือคนญี่ปุ่นอยู่บ้านอากาศดีๆ อยากมาพักผ่อนเมืองไทยแล้วต้องใส่หน้ากาก เรารู้สึกสงสารตัวเองและเขาว่า มาเที่ยวแทนที่จะได้แต่งตัวสวยๆ หล่อๆ ถ่ายรูป แต่ต้องมาใส่หน้ากาก ผมว่าน่าอายมากกว่านะ"
จากรายงานของทีมงาน เขาพบว่า พื้นที่รับประทานอาหาร Bangkok Balcony Baiyoke sky โซน Outdoor ยังคงมีลูกค้าจับจองเต็มพื้นที่ตามปกติ
"พื้นที่เอาต์ดอร์ ยังมีคนจองเต็มอยู่เรื่อยๆ ครับ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ดูยังไม่ค่อยกังวล ผิดกับคนไทยที่ค่อนข้างตื่นตัว เริ่มคิดกันมากว่าจะนั่งข้างนอกหรือข้างใน"
ปี 2562 กลุ่มใบหยกได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ติดตั้งเครื่องฉีดน้ำจากระเบียงชั้น 81 พ่นลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ปิยะเลิศ ยังไม่ได้รับการติดต่อ
"เรายินดีให้ใช้น้ำของเราอย่างไม่จำกัดเพื่อมีส่วนช่วยบรรเทา แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครติดต่อเข้ามาเลย"
เขาย้ำว่า สังคมและรัฐบาลไม่ควรชินชากับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากความรู้สึกดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิกเฉย โดยหวังว่าจะได้เห็นมาตรการเชิงรุก จูงใจและรอบด้านเพื่อแก้ไขปัญหา
"อย่าปล่อยให้มันเป็นเรื่องเคยชิน อย่าคิดว่า เฮ้ย..ตอนนี้มันอากาศแย่ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป" เขาบอกพร้อมแสดงความกังวล "ผมเป็นคนมีลูกก็ห่วงลูก จะพาเด็กๆ ออกไปไหน ต้องคิดแล้ว มันไม่ค่อยโอเค เขายังอยู่อีกนาน"
รองประธานกลุ่มใบหยก บอกว่า โมเดลความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มีให้พบเห็นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ที่มีมาตรการหลายด้านและสามารถบังคับใช้ได้จริง ขณะที่ในไทยมักเป็นลักษณะขอความร่วมมือ ซึ่งอาจไม่เพียงพอในสถานการณ์เช่นนี้
"ทุกวันนี้ผมยังเห็นรถควันดำวิ่งอยู่นะ ยังมีการเผาหญ้าและขยะกันต่อเนื่อง รถยนต์รุ่นเก่าบางประเภทอาจจะต้องเลิก หรือเพิ่มภาษีเหมือนในบางประเทศ ขณะเดียวกันก็จูงใจให้คนเลือกใช้รถขนส่งสาธารณะในแบบที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น" ปิยะเลิศทิ้งท้าย