ไม่พบผลการค้นหา
‘ยุทธพงศ์’ ชำแหละกองทัพเรือ เสียค่าโง่ 'เรือดำน้ำ’ กว่า 2.17 หมื่นล้าน แต่เรือไม่มีเครื่องยนต์ ฉะงบฯ ซื้อ UAV 4.1 พันลบ. ไร้คุณภาพ อัด ‘ทอ.’ ซื้อ F-35A 7.4 พันลบ. ในภาวะหนี้สาธารณะพุ่ง อ้าง เสธ ทอ. เผยไม่จำเป็นต้องตั้งงบฯ

วันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จำนวน 11 คน เป็นวันที่สี่ ซึ่งเป็นการอภิปรายวันสุดท้าย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชอา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่มีเครื่องยนต์ ซื้อ UAV ไร้อาวุธ สู้การจัดซื้อเครื่องบินใหม่ทางยุทธศาสตร์ F-35 ไม่มีอาวุธ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และความหิวโหยของพี่น้องประชาชน 

ยุทธพงศ์ เริ่มที่การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจากประเทศจีน เมื่อเร่ิมแรก เรือดำน้ำ เป็นการจัดซื้อแบบโปรโมชั่น คือซื้อสองลำ แต่แถมฟรีอีก 1 ลำ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ยังตัดพ้อบอกกองทัพฯ ว่ามีเงินน้อย แต่เมื่อดูราคาที่มีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ราคาดังกล่าวได้มาจากสัญญาที่เป็นทางการจากกองทัพเรือเรียกว่า Price Breakdown ที่ได้มาจากคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ เป็นการจัดซื้อ 3 ลำ ไม่ใช่ซื้อ 2 แถม 1 ราคาส่วนประกอบต่างๆ จะคูณ 3 ทั้งหมด เพราะซื้อมา 3 ลำ ทั้งหมดนี้ราคารวมจำนวน 6,120 ล้านหยวน ภาษีมูลค่าเพิ่ม 428 ล้านหยวน รวมเป็นเงิน 6,548 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 36,000 บาท แสดงให้เห็นว่า เรือดำน้ำราคาต่อ 1 ลำ 12,000 ล้านบาท 

ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า รุ่น S26T (Yuan Class) จำนวน 3 ลำ ที่กองทัพเรือไทยซื้อจากประเทศจีน มูลค่า 12,424 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่อเรือ และเกิดปัญหาคือไม่มีเครื่องยนต์ที่จะดำเนินต่อ ส่วนเรือดำน้ำจีนลำที่ 2 และ 3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท ตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 - 2569 ขณะนี้ยังไม่ได้ซื้อ เพราะพรรคเพื่อไทยได้คัดค้านไว้ และเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ militaryleak ระบุว่า ทางเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยแจ้งว่า ทางการจีนยังไม่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องยนต์จากเยอรมันก่อนที่จะมีการลงนามขายเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทย และไทยรัฐรายงานว่า จุดจบเรือดำน้ำ ซื้อเรือไร้เครื่อง กองทัพเรือเดิมพัน 60 วันชี้ชะตา ซึ่งเครื่องยนต์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด โดยประเทศจีนต้องซื้อจากประเทศเยอรมัน แสดงให้เห็นว่า ตอนที่ไปทำสัญญาที่ไปซื้อ กองทัพเรือไทยไม่ได้มีความระมัดระวังปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ 

ยุทธพงศ์ เพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ -DEE1-4351-B0A6-2493CCAD0EC6.jpeg

ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เส้นตายในวันที่ 9 ส.ค. 2565 จีนไม่สามารถหาเครื่องยนต์มาใส่เรือดำน้ำให้ไทยได้ และกองทัพเรือได้หารือกับบริษัท CSOC เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนเพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเครื่องยนต์ โดยทางการจีนเสนอเครื่องยนต์รุ่นอื่นมาใส่แทนเครื่องยนต์จากเยอรมัน แต่ทางกองทัพเรือยืนยันความต้องการเครื่องยนต์เยอรมัน และขอให้ทางการจีนแก้ไขปัญหาใน 60 วัน ปัญหาคือ ซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ สร้างความเดือดร้อนให้หน่วยงาน และงบประมาณ 

ขณะที่สัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นแบบ G2G มาจากการที่กองทัพเรือเซ็นกับบริษัท CSOC ประเทศจีน โดยสัญญาระบุว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ซึ่งจริงๆ แล้วมันสามารถยกเลิกได้ ในข้อ 5.2 ที่ระบุไว้ว่า ถ้าฝ่ายจีนไม่สามารถสร้างเรือดำน้ำให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญานี้ได้ ทางการไทยมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาโดยไม่เสียค่าปรับ และสามารถเรียกร้องเงินจำนวนประมาณ 7,000 พันล้านบาท ตามที่ได้จ่่ายไป ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหา ทั้งที่มีช่องทางในการแก้ไข 

นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ อภิปรายว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย 44,222 ล้านบาท เพราะการซื้อเรือดำน้ำไม่ได้ซื้อแค่ตัวเรือ แต่ยังมีเรือพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนเรือดำน้ำในการปฏิบัติการทางทะเล รวมถึงอุปกรณ์คลังอาวุธต่างๆ ซึ่งในเงินจำนวนนั้นประกอบไปด้วย เรือดำน้ำ ระยะที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 12,424 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ งบประมาณ 4,385 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ระยะที่ 2 งบประมาณ 1,800 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ งบประมาณ 22,500 ล้านบาท (ยังไม่ได้จ่ายเพราะพรรคเพื่อไทยคัดค้าน) 

อีกทั้งโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือ และอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 งบประมาณ 900 ล้านบาท โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ฐานทัพเรือสัตหีบ ระยะที่ 2 งบประมาณ 950 ล้านบาท โครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ งบประมาณ 995 ล้านบาท โครงการอาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี งบประมาณ 138 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอาคารทดสอบ พร้อมคลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด งบประมาณ 130 ล้านบาท 

ยุทธพงศ์ กล่าวถึง ‘ค่าโง่เรือดำน้ำ’ อีกว่า จำนวนงบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ที่กองทัพเรือใช้ไปนั้น จะเห็นว่า นอกจากเรือดำน้ำ 3 ลำ ยังมีเรือ LPD หรือเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงท่าจอดเรือ คลังเก็บอาวุธ และมีค่าโง่ที่ต้องจ่าย 21,722 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ไม่มีเรือดำน้ำ 

ต่อมาในปีงบประมาณ 2565 นั้น กองทัพเรือได้มีการขอจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV 3 ลำ มูลค่า 4,100 ล้านบาท พร้อมระบบที่ติดตั้งสำหรับการปฏิบัติการ และติดตั้งอาวุธ และได้มีการจัดซื้อ UAV ยี่ห้อ Hermes 900 เป็น UAV เปล่าๆ ไม่มีอาวุธ และก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยตกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือเพียงต้องการใช้งบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ใดๆ 

ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องของการจัดซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ F-35A แม้ พล.อ.อ.นภา​เดช​ ธูปะเต​มีย์ ผบ.ทอ. แจงว่า สามารถนำทัพฟ้าหลุดพ้นจากภัยคุกคาม เพราะล่องหนหายตัวได้ บินด้วยท่าทางพิสดาร มีกล้องรอบตัว บินเร็วเหนือเสียง และควบคุม UAV ได้ แต่ภาวะงบประมาณของประเทศมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พ.ค. 2565 เป็นหนี้รวม 10.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของจีดีพี ซึ่งการขอยายเพดานเงินกู้จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ผิดวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง 

ในคำขอที่รับหลักการขอซื้อ F-35A ใน พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งราคาตกลำละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 2,900 ล้านบาท เป็นเครื่องบินเปล่าไม่มีอาวุธ แต่ถ้าหากบวกระบบอาวุธจะเป็น 110.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 4,100 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบินจะเสียค่าเชื้อเพลิงชั่วโมงละ 1.3 ล้านบาท และขณะนี้ปัญหาคือ เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 15 ปี 8 เดือน แต่เงินดอลลาร์แข็งขึ้น เพราะมีแรงหนุนจากแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย การอนุมัติขายเครื่องบินรบ F-35A ขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต้องพิจารณาผ่านสภาคองเกรส แม้ว่าไทยจะเป็นพันธมิตรนอก NATO แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายให้ 

โดย ผบ.ทอ. ได้มีการยืนยันกับทางกมธ.งบประมาณฯ ว่า ได้มีการจัดซื้อ F-35A ไม่มีอาวุธ จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท แต่งบประมาณที่กองทัพอากาศเคยได้ไปนั้น รวมเงินคงค้างอยู่จำนวน 1,283 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณประจำปี 2564 และในปีงบประมาณ 2566 ไม่ได้มีการขอตั้งงบแต่อย่างใด และเมื่อซื้อ F-35A แล้ว จะไม่มีงบไปพัฒนาในด้านอื่นของกองทัพอากาศเป็นเวลา 10 ปี เพราะเพดานเงินงบประมาณนั้นเต็มแล้ว ทั้งที่กองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเรดาร์ต่างๆ และอาวุธในการติดเครื่องบินรบ F-35A และต้องตั้งงบประมาณผูกพันอีก 10 ปี เพื่อซื้อให้ครบฝูงบิน 1 ฝูง 

ยุทธพงศ์ อ้างว่า ขณะที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ ทอ. ยืนยันว่า F-35A ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แม้จะตอบโจทย์ เพราะเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัย หากไม่ผ่านงบฯ ปี 2566 ก็สามารถเสนอใหม่ปีหน้าได้ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควรนำเงินไปช่วยพี่น้องประชาชนก่อน รวมถึงเอกสารงบประมาณของกองทัพอากาศปี 2566 ที่นำเสนอโดย ผบ.ทอ. ต่อกมธ.งบประมาณว่า กระบวนการในการขายทางทหารจากต่างประเทศเรียกว่า FMS (Foreign Military Sales) ซึ่งจะรู้ผลการขอข้อมูลเกี่ยวกับราคา และการผลิตในปี 2566 ดังนั้นจึงต้องไม่มีความจำเป็นต้องรีบตั้งงบประมาณ 

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรเลือกความอดอยากหิวโหยของประชาชน แต่กลับไปอนุมัติให้ซื้อเครื่องบินรบ F-35A จึงไม่อาจไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปได้