วันที่ 22 พ.ค. 2565 ที่สเตเดียมวัน เขตปทุมวัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขึ้นเวทีแถลงเป็นครั้งแรกหลังมีคะแนนนำทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่นอย่างขาดลอยว่า ท่านแรกที่โทรมา คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็รับปากว่าจะทำงานร่วมกับ ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ คนที่สองคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โทรมาแสดงความยินดี ถ้าเรามีโอกาสร่วมงานกับ ส.ก.ก้าวไกล ซึ่ง วิโรจน์ก็ยินดีทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาว กทม. มีการฝาก 12 นโยบาย ทำ กทม.ให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นมิติที่ดี เราต้องก้าวข้ามความแตกแยก สุดท้ายต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ต้องเดินไปด้วยกัน เราได้รับว่าจะทำให้ กทม.เดินหน้าไปได้
"วันนี้เป็นวันที่มีความหมายสำหรับผมส่วนตัว เมื่อ 8 ปีที่แล้วอยู่ในเหตุการณ์รัฐประหาร ถูกคลุมหัว มัดมือ ถูกนำตัวไปที่ใดก็ยังไม่รู้ เพราะเขาคลุมหัวไปและกลับ แต่ไม่ได้รู้สึกโกรธ แค้น หรือ เกลียด ให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นความทรงจำที่เตือนใจเรา เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะ เกลียด โกรธ ซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคน ที่มาได้ผลประโยชน์ เราเห็นต่างกันได้ แต่โกรธ อย่าเกลียด สร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน” ชัชชาติ กล่าว
ลั่นเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคนรับใช้ทุกคน เห็นต่างกันได้แต่อย่าเกลียดกัน
ชัชชาติ ระบุว่า "ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. หาก กกต.รับรอง พร้อมเป็นผู้ว่าฯ สำหรับคนทุกคน ไม่ว่าจะเลือกผมหรือไม่เลือกผมก็ต้องรับใช้ทุกคนเหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของคน กทม. อนาคตต่อไปเรามาเดินร่วมกัน เห็นต่างกันได้ แต่อย่าเกลียดกัน ทะเลาะกัน เมื่อผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย คนไหนได้สิทธิมาดูแลประชาชนก็ต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีความหวัง มีความสวยงาม มีคุณค่ามากมาย แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายๆ เรื่องที่ทำให้เพชรเม็ดนี้ไม่ได้เจียรนัยอย่างต่อเนื่อง"
“ผมอาสาเป็นผู้นำแห่งความหวัง ขอให้เดินร่วมกันไป เราเห็นต่างได้ แต่เราอย่าเกลียดกัน โกรธกัน สุดท้ายคุยกันด้วยเหตุผล และพร้อมที่จะเดินกับประชาชนทุกคน เราทำ กทม.เป็นมหานครที่สวยงาม ที่คนอยู่และมีความสุข เป็นมหานครที่ทุกคนเดินไปพร้อมๆ กัน ทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้” ชัชชาติ กล่าว
รับปากสานต่อนโยบายดีของผู้สมัครผู้ว่าฯ
ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ตื้นตันใจ พูดไม่ออก ถ้าดูตอนนี้ก็เป็นเหมือนคำสั่งให้เราเป็นตัวแทนของผู้สมัครทั้ง 31 คน คิดถึงหลายท่าน ที่ดีเบตด้วยกันหลายครั้ง ยังชวน สุชัชวีร์ วิโรจน์ กินข้าวกัน และเราได้สิ่งดีๆ หลายอย่าง คิดเรื่องไวไฟฟรี สวัสดิการเพิ่มเติม คิดเรื่องการหารายได้ของ สกลธี ภัทธิยกุล คิดเรื่องการทำโครงการที่ดีอยู่แล้ว ทำต่ออย่างไรของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ผู้สมัครฯ ทุกท่านมีข้อดีที่น้อมรับมา และนำมาเป็นนโยบาย ของเราไม่ดีครบถ้วน แต่เราเอานโยบายทุกคนมารวมกัน และเป็นนโยบายที่ทำงานร่วมกับ ส.ก.ทุกคนด้วย นี่คือสิ่งสำคัญที่เดินไปด้วยกัน เราบอบช้ำมาเยอะสำหรับกรุงเทพฯ และประเทศไทย เชื่อว่าเมืองไทยมีพลัง มีความหวังอยู่มากมาย ขอให้ร่วมใจ รอ กกต.ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์ว่าพลังอิสระ อาสาสมัครที่มารวมตัวกัน 2 ปีครึ่งที่แล้ว มาถึงวันนี้ จากการที่ไม่ต้องเป็นนักการเมือง เป็นอิสระ เชื่อว่าสามารถทำการเมืองได้ และมีพลังไม่น้อยกว่าพรรคการเมือง
ชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งแรกที่อยากทำ ฝากข้าราชการ กทม.ทั้งหมด ช่วยไปอ่านนโยบายทั้งหมดในเว็บไซต์ 213 ข้อ และนโยบายรายเขต 50 เขต กรุณาอ่านให้ละเอียด นี่คือส่งที่ประชาชนเขาต้องการผ่านการเลือกตั้ง ถ้าอ่านไม่เข้าใจก็มาถาม หรือไม่เห็นด้วยตรงไหนคุยกัน เป็นจุดเลี้ยวจุดเริ่มที่ต้องเดินไปด้วยกัน หากไม่เห็นด้วยก็ให้มาคุยกัน แต่ขอให้ศึกษานิดหนึ่งจะได้เข้าใจ
"วันนี้ไม่ได้ชัยชนะนะ แต่มันเป็นเหมือนคำสั่งของประชาชนที่ต้องปฏิบัติตาม"
ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ยังมั่นใจว่าจะอยู่ครบวาระ 4 ปี ถ้าเราไม่มั่นใจเราไม่เสนอตัว เวลาเราบริหารไม่ใช่หลับหูหลับตาไม่ฟังประชาชน ดังนั้น เรามีระบบที่ฟังประชาชนตลอดว่าเขาต้องการอะไร นโยบายต้องเปลี่ยนหรือไม่ มีระบบที่ประเมิน ผู้ว่าฯ กทม.และ ผอ.เขต ถ้าหากไม่ฟังประชาชน ทู่ซี้ ประชาชนทนไม่ไหวก็จะอยู่ลำบาก
"ผมเชื่อว่าข้าราชการ กทม.ดีๆ มีเยอะ อันแรก การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรมก่อน ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ถ้าซื้อขายตำแหน่ง คือความเจ๊ง เพราะถ้าคุณซื้อขายตำแหน่ง คุณต้องมารีดไถประชาชนเพื่อซื้อขายตำแหน่ง"
ชี้ได้คะแนนเสียงเหนือกว่านายกฯ ย้ำสลายขั้วการเมือง
ส่วนจะประสานงานกับรัฐบาลได้หรือไม่ ชัชชาติ กล่าวว่า “ผมว่าผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนนเสียงมากกว่านายกฯ อีกนะ ไม่ได้ท้าทาย แต่เราเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คุยด้วยอารมณ์ หรือ ทะเลาะกัน แต่เมื่อ ประชาชนเลือกเรามา ก็ต้องใช้เหตุผล และการคุยกันก็ต้องมีระบบระเบียบ ขั้นตอน แต่อย่างที่บอก ประชาชนเลือกมา เราประชาชนเป็นที่ตั้ง”
ชัชชาติ กล่าวถึง พล.ต.อ.อัศวินว่า ขอบคุณที่ดูแล กทม.มา 5 ปี 5 เดือน 5 วัน โครงการไหนที่ดีทำต่อ ไม่มีปัญหา ไม่ใช่จะมาล้างอะไร อันไหนปรับปรุงก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ป้ายรถเมล์ที่ทำไว้ดี ก็จะขยายต่อไปในหลายจุด หรือ การทำคลองในบางจุดก็ขยายวิธีทำไปคลองอื่น ทุกคนมีจุดดี เอาจุดดีทำต่อ จุดไหนปรับปรุงก็ดีอีกครั้งหนึ่ง
"ไม่มีใครเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ ไม่มีใครเอื้อมมือไปในสมองเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ การเปลี่ยนความคิดต้องมาจากตัวเราเอง ดังนั้น หน้าที่เราทำตัวเราเองให้ดีที่สุด ป้อนข้อมูลให้เขา แต่อย่าไปเสียเวลากับคนไม่เปลี่ยนความคิด ถ้าเราให้ข้อมูลเขาพร้อมแล้วต้องวางใจ อย่าไปทะเลาะกับเขา อย่าไปโกรธไปเกลียดเขา ให้ข้อมูลเขาก็จบ ถ้าเขาไม่คิดไม่เปลี่ยนก็ไปหาคนอื่นที่เหมือนเราดีกว่า" ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ ระบุด้วยว่า "ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องก่อน ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว แต่ตัวเองไม่เคยทำเลย"
“เราไม่มีขั้วการเมือง ประชาชนก็ไม่มีขั้ว สุดท้ายแล้วขั้วการเมืองตั้งมาเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคน แต่ถามว่าประชาชนจะเลือกใครเป็นสิทธิของประชาชน อย่าไปแบ่งคนไป 0 กับ 1 ซ้ายกับขวา ไม่มีประโยชน์ทำให้แตกแยก คำว่าขั้วเป็นการแบ่งคน อย่างน้อย กทม.อย่ามีขั้วเลย ขัดแย้งได้แต่อย่าโกรธมีขั้วกัน เป็นเรื่องที่ดี” ชัชชาติ กล่าว
'ชัชชาติ'ทุบสถิติใหม่ชนะผู้ว่าฯ กทม.มากที่สุด 1.38 ล้านเสียง
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเวลา 00.45 น. วันที่ 23 พ.ค. 2565 นับแล้ว นับ 100%
โดย อันดับ 1 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 (อิสระ) 1,386,769 คะแนน (ได้รับเลือกตั้ง)
อันดับ 2 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ 254,723 คะแนน
อันดับ 3 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล 253,938 คะแนน
อันดับ 4 สกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 3 (อิสระ) 230,534 คะแนน
อันดับ 5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเข 6 (อิสระ) 214,805 คะแนน
อันดับ 6 รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 (อิสระ) 79,009 คะแนน
อันดับ 7 น.ต.ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย 73,826 คะแนน
อันดับ 8 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5 (อิสระ) 20,750 คะแนน
อันดับ 9 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล หมายเข 2 (อิสระ) 19,859 คะแนน
ส่วนผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ได้คะแนน มีดังนี้
10.วัชรี วรรณศรี 8,280 คะแนน
11.โฆสิต สุวินิจจิต 3,247 คะแนน
12.ประยูร ครองยศ 2,219 คะแนน
13.ศุภชัย ตันติคมน์ 2,189 คะแนน
14.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ 2,129 คะแนน
15.วรัญชัย โชคชนะ 1,128 คะแนน
16.ธเนตร วงษา 1,094 คะแนน
17.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ 909 คะแนน
18.พิศาล กิตติเยาวมาลย์ 868 คะแนน
19.วิทยา จังกอบพัฒนา 813 คะแนน
20.อุเชน ชาติภิญโญ 757 คะแนน
21.ไกรเดช บุญนาค 636 คะแนน
22.พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที 574 คะแนน
23.อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ 558 คะแนน
24.กฤตชัย พยอมแย้ม 494 คะแนน
25.ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ 460 คะแนน
26.เฉลิมพล อุตรัตน์ 432 คะแนน
27.พงศา ชูแนม 424 คะแนน
28.ภูมิพัฒน์ อัศวภูมินทร์ 391 คะแนน
29.พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ 360 คะแนน
30.นิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ 342 คะแนน
31.สราวุธ เบญจกุล 0 คะแนน (ถูกเพิกถอน)
ทั้งนี้ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,673,696 คน (60.73%) จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,402,948 คน หน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย
สุดแลนด์สไลด์ 'ชัชชาติ' ทุบสถิติเหนือกว่า 'สมัคร-สุขุมพันธุ์'
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งนี้ที่ ชัชชาติได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,386,769 คะแนน ถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ด้วยการมีคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยมีคะแนนที่มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยได้คะแนนเสียงชนะผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2556 จำนวน 1,256,349 คะแนน ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ ชัชชาติได้รับคะแนนเสียงชนะผู้ว่าฯ กทม.แบบถล่มทลายและทุบสถิติใหม่ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับผู้ว่าฯ กทม.ที่เคยได้รับคะแนนเสียงเกิน 1 ล้านคนในอดีตมีเพียง สมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ต่อมาเป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อปี 2556 ที่ได้ 1,256,349 คะแนน และคนล่าสุดคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์