ทรัสส์ระบุว่า การได้รับหน้าที่นายกรัฐมนตรี และการได้รับหน้าที่จัดพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และการต้อนรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในการขึ้นครองราชย์ถือเป็น “เกียรติอันยิ่งใหญ่” ของตัวเธอเอง ทั้งนี้ ทรัสส์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรมาได้เพียงแค่ 49 วัน ก่อนการประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ
ทรัสส์ย้ำว่า รัฐบาลของเธอได้ดำเนินการ “อย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด” เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนสหราชอาณาจักรที่ทำงานกันอย่างหนัก เธอชี้ว่าตนได้ช่วยภาคธุรกิจหลายพันแห่งไม่ให้ล้มละลาย และทวงอิสรภาพด้านพลังงานของประเทศกลับคืนมา ทรัสส์ย้ำว่านโยบายของเธอทำให้สหราชอาณาจักร “ไม่ต้องพึ่งพามหาอำนาจจากต่างประเทศที่มุ่งร้ายอีกต่อไป”
ทรัสส์กล่าวว่า เธอ “มั่นใจมากขึ้นกว่าเดิมว่า เราจำเป็นต้องกล้าหาญและเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เราเผชิญอยู่” ก่อนที่เธอจะยกคำคมจากนักปรัชญาชาวโรมันอย่างเซเนกาว่า “ไม่ใช่เพราะเรื่องยากที่เราไม่กล้า แต่เป็นเพราะเราไม่กล้าในสิ่งที่ยาก”
ทรัสส์ปกป้องนโยบายภายใต้การนำของเธอว่า “เราจะเป็นจะต้องหาประโยชน์จากเสรีภาพที่เกิดจากเบร็กซิทของเรา ในการทำสิ่งอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป มันหมายถึงการส่งมอบอิสรภาพที่มากขึ้น แก่พลเมืองของเรา และฟื้นคืนพลังแด่รัฐธรรมนูญอันเป็นประชาธิปไตยของเรา”
ทรัสส์ย้ำต่อไปว่า “มันหมายถึงการลดภาษี เพื่อให้ประชาชนสามารถเก็บเงินที่พวกได้มาเอาไว้ได้มากขึ้น และมันหมายถึงการส่งมอบการเจริญเติบโต ที่จะนำไปสู่การประกันการจ้างงาน ค่าจ้างที่สูงขึ้น และโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นของลูกหลานของเรา” อย่างไรก็ดี นโยบายการลดภาษีของทรัสส์ถูกกดดันจากหลายภาคส่วน จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออก
สำหรับนโยบายยูเครน ทรัสส์ระบุว่า “เราต้องสามารถเอาชนะระบอบเผด็จการให้ได้ ตอนนี้เราต้องสนับสนุนยูเครนมากขึ้นกว่าเดิม ยูเครนต้องได้รับชัยชนะ และเราต้องเสริมกำลังการป้องกันประเทศของเราต่อไป”
ในท้ายสุด ทรัสส์ได้อวยพรขอให้ซูนัคพบกับ “การประสบลความสำเร็จทุกประการ” โดยทรัสส์ย้ำว่า เธอหวังว่าตนจะสามารถทำงานเพื่อรับใช้รัฐธรรมนูญและประเทศของตนในที่นั่ง ส.ส.ในรัฐสภาต่อไปในอนาคต “เรายังคงอยู่ในศึกของการฝ่าพายุ แต่ดิฉันเชื่อในสหราชอาณาจักร ดิฉันเชื่อประชาชนชาวสหราชอาณาจักร และดิฉันรู้ว่ามันมีวันที่ฟ้าสดใสกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า” ทรัสส์ระบุ
หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายจบ ทรัสส์ได้เดินทางออกจากบ้านหมายเลข 10 พร้อมกับสามีและลูกสาวอีก 2 คน เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในการถวายบังคัมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ซูนัคจะเข้าเฝ้ารับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการโดยองค์พระประมุขในวันนี้ (25 ต.ค.)