ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ แถลงข่าว แสดงจุดยืนและแนวทางในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 50,000 รายชื่อ และสามารถยื่นต่อสภาได้ทันการพิจารณาของรัฐสภาในสัปดาห์หน้า

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ทางกลุ่มจึงเล็งเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. และจะทำให้ประเทศไทยไม่มีทางกลับไปสู่ระบบที่ถูกต้องเป็นปกติเหมือนประเทศอื่นๆได้ ดังนั้น ทางกลุ่มเห็นว่า จำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่ความพยายามดังกล่าวก็เคยถูกคว่ำไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาจากการเล่นแร่แปรธาตุของสมาชิกรัฐสภาบางส่วน ทำให้การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับสะดุดหยุดลงไป แล้วก็มีทีท่าว่าจะหันมาแก้ไขรายมาตราแทน สามารถคาดการณ์ได้ว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วนนั้น ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียงแต่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางประเด็นที่เขาได้ประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจต่อไป 

ปิยบุตร  resolution แก้ไขรัฐธรรมนูญ 8C2F31A0-0C13-43FE-B3BF-E664B8116430.jpeg

ทั้งนี้ ทางกลุ่ม Re-solution ได้เปิดตัวแคมเปญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้ความตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ต้องแก้ที่ 4 ประเด็นหลักซึ่งเป็นจุดสำคัญในการค้ำจุนระบอบประยุทธ์ คือ 1. ล้มวุฒิสภา ให้ประเทศไทยกลายเป็นสภาเดี่ยว 2. โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทำการปฏิรูปเสียใหม่ 3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 4. ล้างมรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขัดขวางประชาธิปไตย

ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการที่พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ ทางกลุ่มจึงทำการแต่งตั้งคณะเชิญชวน 20 คนขึ้นมา อาทิ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่ม Re-Solution และเลขาธิการคณะก้าวหน้า พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ ชญาธนุส ศรทัตต์ นางแบบและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิชาติพันธุ์ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม และสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรม 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องถึงประธานรัฐสภา ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการบรรจุระเบียบวาระประชุม และกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐกำลังจะเข้าสู่การประชุมรัฐสภานั้น ปิยบุตร กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น แต่ก็โดนกดดันโดยประชาชนพรรคร่วมรัฐบาลจึงยอมยื่น และสุดท้ายวาระ3 ก็ถูกคว่ำ แต่เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีปัญหาขัดแย้งกัน จึงเริ่มเสนอแก้ไขรายมาตรา และรีบนำวาระเข้าสู่รัฐสภา โดยข้ามพ.ร.บ.ประชามติที่ยังค้างอยู่ เพื่อหวังที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น บทบาทของประธานรัฐสภาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากรอให้พ.ร.บ.ประชามติจบไปก่อนยังไงรัฐสภาชุดนี้ก็ยังมีอีกหลายเดือนที่จะนำญัตติต่างๆเข้ามาพิจารณา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ มีความพยายามที่จะเสนอหลายร่าง แต่ความสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่ต้องการคืออะไร ตนคิดว่าที่รัฐบาลและฝ่ายค้านบางพรรคต้องการเน้นไปที่แก้ระบบเลือกตั้ง ส่วนเรื่องอื่นๆคือส่วนประกอบ และคาดว่าการแก้ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ เปลี่ยนไปเป็นแบบปี 40 เท่ากับว่า นี่คือการเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจอีกรอบนึง สะท้อนว่าระบอบประยุทธ์ เห็นประชาชนไม่มีค่าเลยหรือ ซึ่งร่างที่ยื่นเข้าไปนั้นก็ไม่ได้มุ่งเน้นที่ต้นตอของปัญหา ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่สำคัญคือการปฏิรูปองค์กรอิสระ การล้มวุฒิสภา และการทำรัฐประหาร แต่เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของตนเอง และจะสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคพลังประชารัฐเป็นรอบที่ 3

สำหรับร่างของ Re-solution นั้น คิดกันว่าเมื่อมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ก็จะเปิดทางให้กับส.ส.ร.ร่วมกันออกแบบ เพราะทราบดีว่าระบบเลือกตั้ง หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ไปแตะหรือไปทำกันเองก็จะเกิดข้อครหาทันทีว่าการแก้รัฐธรรมนูญข้อนี้ใครได้ใครเสีย นอกจากนี้ไม่มีระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบที่สุด ระบบเลือกตั้งมีข้อดีข้อเสียกันหมด แต่อยู่ที่ว่าจะสร้างสมดุลของระบบเลือกตั้งนี้อย่างไร ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญและต้องถกเถียงกัน คือจะต้องทำให้ 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่าเทียมกันหมด โดยการคิดคำนวณคะแนนแบบสัดส่วน ซึ่งทุกคะแนนของประชาชนจะไม่ถูกทิ้งน้ำและนำมาคำนวณทั้งสิ้น

ไอติม พริษฐ์ 5FEDEA32-BA30-4BC5-AEA4-1F2DA8816EE1.jpeg

ด้านพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution ต้องการเรียกร้องในสามแนวทาง ที่จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับต้นตอปัญหาในการสืบทอดอำนาจ คือ ขอให้ ส.ส. ทุกพรรคการเมืองลงมติคว่ำข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐเพราะมีเนื้อหาที่สืบทอดอำนาจให้กับ คสช. ขอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมการเร่งรัดให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะหากไม่ระวังอาจจะเข้าทางผลประโยชน์ของระบอบประยุทธ์ แม้มีเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอตัดอำนาจของ ส.ว. แต่การพิจารณาในรัฐสภาต้องใช้เสียง ส.ว. ลงมติ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้ทั้งการออกเสียงและลำดับพิจารณา และท้ายสุดคืออยากเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงรายชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของทางกลุ่ม เพื่อสร้างกติกาที่เป็นธรรม ตามหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนมี 1 สิทธิและ 1 เสียงเท่ากัน

ด้านภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม แถลงว่า ในฐานะประชาชน ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เปรียบเหมือนมีสุนัขรับใช้นาย โดยจะทำสิ่งที่นายต้องการเท่านั้น หรือตามคำสั่งเท่านั้น แต่กลับไม่พิจารณาสิ่งที่เป็นปัญหาให้ประชาชน เพื่อทำให้คุณภาพของประชาชนดีขึ้น ดังนั้น ตนขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมผลักดัน เข้าชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ให้เป็นร่างหลักที่พิจารณาในรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำที่คนเพียง 1% ได้รับความสะดวกสบาย ในขณะที่ 99% ที่เหลือต้องลำบาก พร้อมยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนที่ผ่านมามีผลต่อการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาและหากมีโอกาส มีจังหวะที่เหมาะสม ก็คาดว่าทุกคนพร้อมจะเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวอีก

มายด์ ภัสรรวลี  resolution แก้ไขรัฐธรรมนูญ  E940986E-E947-46AB-A9D5-5DC04EE10995.jpeg

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ ระบุว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีปัญหาอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1. สิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายมิติถูกลดทอน เพราะถูกกำหนดไว้ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่เคยมีมาในอดีต 2. โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวพันกับระบบยุติธรรม ส่งผลให้การเข้าถึงทรัพยากรและการใช้ชีวิตของประชาชนเกิดความไม่เป็นธรรมและทั่วถึง เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องทางให้ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. อำนาจที่มาที่ไปของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือส.ว. ที่ออกเสียงลงมติราวกับเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก สู้ไม่มีส.ว.แบบนี้เสียดีกว่า เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาให้กับของประชาชนได้ อีกทั้งยังรวมไปถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระซึ่งเกินขอบเขตกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด 4. มะเร็งที่ถูกบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาล หรือมาตราใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจของคสช. จำเป็นที่จะต้องถูกกำจัดทิ้งไป ภายใต้ความพยายามที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ยอมรับการยึดอำนาจโดยการรัฐประหารอีกต่อไป 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ว่า ถือเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจครั้งที่สอง และต่ออำนาจของระบอบที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำงานมาแล้ว 2 ปี 3 เดือน และเหลือเวลาอีก 1 ปี 9 เดือน จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงจำเป็นต้องหาช่องทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ส่วนกรณีที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้ามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องทำประชามติก่อน ดังนั้นตนมองว่าการทำประชามติ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมย้ำว่า ประวัติศาสตร์ทุกสังคมสอนเราว่าสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ไม่เคยได้มาจากความเมตตาของชนชั้นนำหรือการร้องขอ แต่มาจากการเรียกร้องยืนหยัดต่อสู้ของประชาชนอย่างมั่นคงและยาวนาน จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-solution ฉบับนี้