ไม่พบผลการค้นหา
'พนัส ทัศนียานนท์' มองการเมืองหากยุบอนาคตใหม่จะนำสังคมไทยสู่สถานการณ์ที่ยากจะคาดเดา คนอาจลงท้องถนนจำนวนมาก ชี้การล่าชื่อค้านยุบพรรคการเมือง ไม่ได้ละเมิดอำนาจหรือกดดันศาล

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การลงชื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผ่าน 'change.org' ที่นำโดยศาสตราจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบุคคลมีชื่อเสียงจากหลายสาขาอาชีพ ว่า ตนได้ร่วมลงชื่อเป็นชุดแรกๆ และยืนยันว่า เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการเมืองและคดีที่ตัดสินเกี่ยวข้องกับการเมืองและผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง ซึ่งการลงชื่อไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และไม่เป็นการกดดันศาล ด้วย เพราะตุลาการที่เป็นมืออาชีพ ย่อมวินิจฉัยตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่อาจคล้อยตามกระเเสสังคมหรือแรงกดดันได้

นายพนัส กล่าวด้วยว่า หากผลคำตัดสินออกมาทางลบ คือพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นอกจาก จะมีการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคและทำลายสิทธิ์ทั้งสมาชิกและผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่แล้ว ยังจะส่งผลต่อพัฒนาการทางการเมืองของไทย เพราะโดยหลักการแล้วพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันของประชาชน ไม่ควรถูกยุบได้โดยง่าย โดยเฉพาะเหตุผลจากการกู้ยืมเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่พรรคอนาคตใหม่ถูกร้อง ซึ่งนายพนัส มองว่า อ่อนเกินไป หรือไม่สมเหตุสมผลพอที่จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใด

'พนัส' ชี้ สนช. รับถอดถอนเป็นประเด็นการเมือง!

นายพนัส ยังได้เทียบเคียงกับศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณียุบพรรคการเมืองของประเทศเยอรมนีที่ไทยลอกแบบมาด้วยว่า ประเทศเยอรมนีจะยุบพรรคการเมืองที่สืบทอดแนวคิดและอุดมการณ์ของพรรคนาซีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนและปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยโดยเฉพาะคณะตุลาการชุดปัจจุบัน มีบทบาทที่มักเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย และไม่ได้ส่งเสริมหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่จะทำให้ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่ทำงาน ในสภาผู้แทนราษฎรต่อไปในอนาคตลดความเข้มข้นลง เพราะขาดแกนนำสำคัญ แต่ด้านหนึ่ง อาจนำสังคมไทยสู่สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ หากประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยหรือลงบนท้องถนน ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิที่โดยชอบในระบอบประชาธิปไตยและสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยในอดีตก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าผู้คนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเมื่อใด แต่ที่ชัดเจนคือ ทุกคนที่ออกมา ล้วนมาแสดงเจตจำนงและแสดงออกถึงความไม่พอใจบางอย่าง ที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจะต้องรับฟัง