ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.มือพิฆาตอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ประกาศตัวหนุน 'พล.อ.ประยุทธ์' จุดไฟการเมือง เสนอตั้งกรรมาธิการยื้อเวลาแก้ รธน.

ชื่อ 'ไพบลูย์ นิติตะวัน' อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ผู้น้อมนำคำสอนเข้าสู่สภา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง 23 ก.ย. 2563 เขาได้เสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 121 ให้รัฐสภาลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาก่อนรับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ โดยข้อเสนอของเขาได้รับการยกมือจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฟากรัฐบาล ท่ามกลางความเดือดดาลของกลุ่มผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอก ที่เฝ้าจับตาการลงมติบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา


'ส.ว.สรรหา' ผู้เขี่ย 'ยิ่งลักษณ์' พ้นเก้าอี้

หากย้อนไปเมื่อปี 2557 'ไพบูลย์' ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหา ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 จากกรณีการโยกย้ายตำแหน่ง 'ถวิล เปลี่ยนศรี' พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. โดยหยิบคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ระบุว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุอดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง


น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า
ไพบูลย์

ไพบูลย์ ถือเป็นหนึ่งในแนวร่วม กปปส. ขึ้นเวทีโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557

ชายคนนี้กลับเข้าสภาอีกครั้งด้วยตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่ถูกคว่ำไป

ต่อมาปี 2561 เขาได้กำเนิด 'พรรคประชาชนปฏิรูป' ด้วยการประกาศชัดเลยว่าจะเสนอชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ด้วยคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริต พร้อมปฏิเสธว่าพรรคนี้ไม่ได้เป็นพรรคทหาร ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ 

"เราสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถ" ไพบูลย์ กล่าวกับเวลานั้น


ดับฝัน ทษช.

เพียง 2 ชั่วโมง ให้หลังอาฟเตอร์ช็อคทางการเมือง จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไพบูลย์ ได้ปรากฏตัวอีกครั้งด้วยการยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระงับการเสนอพระนาม เนื่องจากอาจเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง” ข้อ 17 คือ ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง 


ผลบุญบัตรเขย่ง
ประวิตร อนุชา ไพบูลย์ พลังประชารัฐ 6adb101886545fd505_36581725_๒๐๐๗๑๔_3.jpg
  • มือกฎหมายข้างกาย

ในศึกเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 พรรคพลังประชาชนปฏิรูป ได้เสนอม็อตโต้คำว่าน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้าในการหาเสียง จนกลายเป็นที่ฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์ของคนในโลกโซเชียลมีเดีย

การนำศาสนามาร่วมสู้ศึกเลือกตั้ง มีผู้สนับสนุน 45,508 คะแนน ส่งไพบูลย์เข้าสภาอีกครั้งในตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากปรากฏการณ์บัตรเขย่ง


หัวหมู่ทะลวงฟัน

หลังเข้าสภาได้ไม่นาน 'ไพบูลย์' สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการยื่นยุบพรรคประชาชนปฏิรูปของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เกิดขึ้นจากการที่พรรคมี ส.ส. เพียงคนเดียวในสภา คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) บางส่วนจึงไม่อยากทำงานต่อและขอลาออก

'ไพบูลย์' ย้ายซบพรรคพลังประชารัฐ ก่อนผงาดในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค จนได้รับการขนานนามว่าเป็นมือกฎหมายคู่กาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรค รับหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟัน เปิดเกมตั้งประเด็นเข้าปะทะกับฝ่ายค้าน

ไพบูลย์ นิติตะวัน 1d5be8a6adb101886545fd505_36232614_200626.jpg

ล่าสุด การเสนอญัตติให้รัฐสภาลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือที่เปรียบเทียบกันว่าเป็นการ 'เตะถ่วง' ยื้อเวลา กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก กลุ่มผู้ชุมนุมเปลี่ยนเป้าหมายในการเรียกร้อง เป็นเพียงกลุ่มที่ต้องการแย่งชิงอำนาจรัฐเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามปกติต้องการเป็นใหญ่ใช้เหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวานนี้เป็นการจุดชนวนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม” ไพบูลย์ กล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.ย.


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog