ไม่พบผลการค้นหา
‘แสวง’ เลขาฯ กกต. เปิดสาธิตการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมอำนวยความสะดวกผู้พิการ-ผู้สูงอายุ ย้ำประชาชนตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าผ่านแอปฯ สมาร์ทโหวต อนุญาตพรรคการเมืองหาเสียงวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้แต่อย่ารบกวนสถานที่

วันที่ 3 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พร้อมด้วย สำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาธิตการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงคะแนนแก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งการจัดที่เลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จึงควรดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่  

ทั้งนี้ กกต. ได้สาธิตวิธีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง โดยในสถานที่ ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนั้นจะมีองค์ประกอบและวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จำนวน 9 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง (รปภ.) จำนวนอย่างน้อยที่เลือกตั้งละ 1 คน ผู้แทนพรรคการเมือง ป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง คูหาออกเสียงลงคะแนนอย่างน้อย 3 คูหา วางห่างกัน (อย่างน้อย 0.5 ม.) และควรวางห่างจากฝาผนัง หรือฝาทึบ ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างคูหาให้ใช้เชือกกั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการเดินอ้อมหลังผู้อื่น หีบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (หีบใส่บัตรแบบบัญชีรายชื่อ และหีบใส่บัตรแบบแบ่งเขต) ป้ายไวนิลแนะนำตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง และติดภายในสถานที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง

นอกจากคนปกติทั่วไป กกต. ยังสาธิตการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดย ใช้เป็นบัตรทาบ และมีอักษรเบล ที่ตรงกับบัตรเลือกตั้งจริงทุกประการ ให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสได้อย่างถูกต้องและชัดเจน รวมถึงผู้พิการเดินไม่ได้หรือผู้สูงอายุก็จะมีรถเข็นวีลแชร์ และเจ้าหน้าที่คอยให้บริการพาเข้าไปในคูหาเลือกตั้งด้วย แต่ยืนยันว่าการลงคะแนนจะ เป็นความลับ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องลงคะแนนด้วยตัวเองเว้นแต่จะขอความช่วยเหลือจากกรรมการประจำหน่วย ซึ่งคนพิการสามารถร้องขอให้ญาติลงคะแนนแทนได้ โดยยื่นคำร้อง 5/6 ส่วนคนที่ไม่มีแขนหรือมือทั้งสองข้าง ไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ ก็ต้องลงคำร้อง 5/6 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งจะต้องมีการบรรจุบัตรเลือกตั้ง 2 ใบใส่ซองเพื่อส่งกลับไปยังเขตเลือกตั้งต้นทางของผู้มาใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม กกต. ย้ำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเฝ้าระวังผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่อาจจะกระทำผิดกฎหมายในคูหาเลือกตั้ง จึงได้มีการติดป้ายข้อห้ามกระทำไว้ในคูหา เช่น การห้ามถ่ายรูปบัตรที่กากบาทลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งหากมีการกระทำเกิดขึ้นก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือกรณีการฉีกทำลายบัตรเลือกตั้งก็เป็นความผิดตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนข้อกังวลที่ว่าผู้ใช้สิทธิไม่สามารถจำหมายเลขผู้สมัครได้ กรรมการประจำหน่วยจะปิดป้ายไวนิลหมายเลขพร้อมภาพผู้สมัครติดตั้งไว้ในที่เลือกตั้งให้เด่นชัดให้เป็นที่สังเกตก่อนทำการลงคะแนน 

โดย แสวงกล่าวภายหลังการสาธิตว่า หากจำผู้สมัครไม่ได้ หน้าหน่วยเลือกตั้งมีข้อมูลของผู้สมัครติดไว้ มั่นใจว่าจะไม่มีการกาผิดเจตจำนงของประชาชน บัตรทั้ง 2 ใบมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะลดจำนวนบัตรเสียในการกา ตนขอเชิญชวนให้ทุกคนไปเลือกตั้ง ทั้งคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. ไปใช้สิทธิ ย้ำว่าต้องไปในวันที่ 7 เท่านั้น ไม่สามารถไปวันที่ 14 ได้ นอกจากไปใช้สิทธิไม่ได้ให้แจ้งเหตุก่อนวันเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง 7 วัน

ส่วนการกู้รายชื่อผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งช่วงนั้นระบบล่ม นายแสวง กล่าวว่า สำนักทะเบียนแจ้งว่าประชาชนสามารถตรวจสอบจากแอปฯสมาร์ทโหวตได้ แต่หากชื่อของใครยังอยู่ในระบบหรือตกหล่น ยอมรับว่ายังไม่ทราบจำนวน แต่ก็ยังสามารถไปใช้สิทธิวันที่ 14 ได้

ส่วนการหาเสียงในวันเลือกตั้งล่วงหน้า นายแสวงกล่าวว่า พรรคการเมืองยังสามารถหาเสียงได้ปกติ แต่อย่ารบกวนสถานที่ที่มีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนโพล ต้องทำโดยสุจริต หากไม่สุจริตถือว่ามีความผิด ซึ่งก่อนวันเลือกตั้ง 7 วันไม่ให้มีการเปิดเผยผลโพล 

เอกสาร ครม. ของบหนุนค่าไฟฟ้าถึง กกต. แล้ว รอต่อคิวพิจารณาตามลำดับ

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติเอกสารกลับมาที่ กกต. เพื่อขออนุญาตในการใช้งบช่วยเหลือค่าไฟประชาชน แสวง กล่าวว่า ขณะนี้รับทราบว่า มติ ครม.เรื่องของบกลาง 11,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนนั้น ส่งมาถึงสารบรรณ ของ สำนักงาน กกต. แล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียด ต้องรอเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องมายังตนเอง จากนั้นจะทำความเห็นวิเคราะห์ ซึ่งต้องใช้เวลา และต่อคิวเอกสาร ของสำนักงาน ไม่มีการหยิบหยกขึ้นมาเป็นพิเศษ แม้ว่าสำนักงาน กกต.ไม่มีวันหยุด ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามไม่สามารถจะระบุได้ว่า จะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้าหรือไม่ และอำนาจการพิจารณาทั้งหมดอยู่ คณะกรรมการ กกต.


กกต. ต้องดูข้อเท็จจริงปม ‘เศรษฐา’ ปราศรัยพาดพิง ‘อนุทิน’

ในส่วนกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวปราศรัยพาดพิงว่า หากเลือกพรรคภูมิใจไทยจะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ แสวง กล่าวว่า หากจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะต้องมาดูข้อเท็จจริงมากกว่านี้ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าเป็นการพูด ใส่ร้ายหรือหลอกลวงหรือไม่

ส่วนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคการเมืองมีการปราศรัยที่ค่อนข้างดุเดือด ทาง กกต. จะมีการกำชับอย่างไรหรือไม่ แสวง กล่าวว่า อะไรที่ไม่ผิดกฎหมายก็สามารถพูดได้อยู่แล้ว แต่หากผิดกฏหมาย ความผิดก็ไม่ได้ตกมาอยู่ที่ กกต. แต่อยู่ที่คนพูด จึงมองว่า ควรระวังแค่นั้น

ส่วนกรณี ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบแชทไลน์หลุดเกี่ยวกับการครอบงำพรรคการเมืองจากนายใหญ่ของพรรคที่จะแลนด์สไลด์ แสวง กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีการยื่นตรวจสอบหรือหาก กกต.เห็นเองก็จะตรวจสอบในเบื้องต้น เพื่อความเป็นธรรมเช่นกัน