มูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) เผยแพร่ รายงานตีแผ่กรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในเรือนจำไทยว่าด้วยการบังคับและข่มขู่นักโทษให้ผลิต 'อวนจับปลา' ส่งบริษัทเอกชนและส่งออกไปต่างประเทศ แลกค่าตอบแทนเป็นเศษเงินที่บางคนได้รับเพียง 30 บาทต่อเดือน หากฝ่าฝืนหรือทำไม่ได้ตามเป้าจะต้องรับบทลงโทษเป็นการทำร้ายร่างกาย การถูกสั่งห้ามอาบน้ำ และอาจถูกเลื่อนวันปล่อยตัว
"ใบหน้าของนักโทษได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย หรือไม่ก็ถูกเลื่อนวันปล่อยตัวออกไป และยังได้รับค่าแรงเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำของไทย ขณะที่บางคนไม่ได้รับค่าแรงแม้แต่บาทเดียว"
ข้อความข้างต้นคือหนึ่งในสิ่งที่ถูกระบุในรายงานของมูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ที่ชี้ว่าเรือนจำไทยหลายแห่งทั่วประเทศ 'บังคับ' ให้ผู้ต้องขังใช้แรงงานผลิตอวนจับปลา โดยหนึ่งในอดีตนักโทษของเรือนจำกลางสุรินทร์เผยว่า เขาต้องทำงานให้ได้ตามเป้าคือต้องผลิตอวนให้ได้สัปดาห์ละ 5 ปาก หากทำไม่ได้จะถูกลงโทษ
"วันหนึ่งช่วงเวลาบ่ายสอง ผมไม่สามารถทำอวนได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ผมจึงถูกสั่งให้ไปนอนกลางแดดและกลิ้งตัวไปตามพื้นดิน" ต๊ะ อดีตผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2563 เผยกับทางมูลนิธิฯ พร้อมระบุด้วยว่า เขาได้รับค่าจ้างเป็นเงินเพียง 3 บาทเท่านั้น ต่อการผลิตอวน 1 ปาก
ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป อยู่ที่วันละ 313-336 บาท ซึ่งตรงกับผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลกับทางมูลนิธิฯ ว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างราว 30 บาทต่อเดือน ขณะที่หลายคนไม่ได้รับค่าจ้างเลย โดยงานผลิตอวนคืองานที่ต้องใช้มือและเป็นงานยาก พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับการโดนเส้นใยวัสดุทำอวนที่คมบาดมือจนเป็นแผลพุพองอยู่ตลอดเวลา
"ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องทำงานตามที่สั่ง นอกเสียจากว่าจะมีคอนเนคชั่นรู้จักกับเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ จ่ายใต้โต๊ะ หรือไม่ก็จ้างผู้ต้องขังคนอื่นให้ทำงานแทน" อดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งกล่าว
รายงานระบุว่าในวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุผ่านแถลงการณ์ว่าไม่มีผู้ต้องขังคนใดถูกบังคับให้ทำงานภายใต้การข่มขู่ว่าจะถูกลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง "เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้" พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า "การจ่ายค่าจ้างให้กับผู้ต้องขังเป็นไปตามกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงค่าจ้างในการผลิตอวนเช่นกัน"
รายงานของมูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขัง 282,000 คน จากเรือนจำทั้งหมด 142 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด โดยถือเป็นจำนวนผู้ต้องขังที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานฉบับก่อนหน้านี้ที่เผยแพร่โดยสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights หรือ FIDH) ก็ชี้ว่าเรือนจำไทยหลายแห่งเผชิญกับปัญหาด้านความแออัดอย่างรุนแรง และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลก็คือภายหลังที่มูลนิธิฯ ได้ยื่นขอข้อมูลตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสาร มีเรือนจำไทยอย่างน้อย 54 แห่งจากทั้งหมดเปิดเผยกับมูลนิธิฯ ถึงตัวสัญญาที่มีการทำขึ้นกับบุคคล และภาคเอกชนจริงในการให้ผู้ต้องขังผลิตอวนจับปลา
เรือนจำอีก 30 แห่งเปิดเผยสัญญาที่มีการทำร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ และเรือนจำที่เหลืออีก 42 แห่ง มีทั้งไม่ตอบกลับตามคำขอของทางมูลนิธิฯ และเป็นเรือนจำที่ไม่ได้ใช้แรงงานผู้ต้องขังแต่อย่างใด
เบื้องต้นแต่ละเรือนจำไม่ได้เปิดเผยชื่อหรือบุคคลที่เป็นคู่สัญญาการจ้างผลิตอวนด้วย จนกระทั่งในที่สุดหลังการยื่นคำร้องหลายครั้ง ทางมูลนิธิฯ ได้รายชื่อคู่สัญญาดังกล่าวมา หนึ่งในนั้นคือบริษัทขอนแก่นแหอวน หรือ KKF ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยรายงานจาก Maia Research ชี้ว่า KKF ได้ผลิตและส่งออกอวน 2,364 ตัน มูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาทไปยัง 'สหรัฐฯ' ในปี 2563
นอกจากนั้นยังพบว่า KKF พยายามขอร้องให้เรือนจำอย่างน้อย 1 แห่งไม่เปิดเผยชื่อบริษัท ซึ่งเมื่อทางมูลนิธิฯ ติดต่อเพื่อขอคำชี้แจ้ง ทาง KKF ยังไม่ได้ให้คำตอบกลับมาแต่อย่างใด
รายงานของมูลนิธิฯ ระบุด้วยว่า ปภพ เสียมหาญ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า การบังคับให้นักโทษผลิตสินค้าเพื่อส่งให้กับบริษัทเอกชน อาจเป็นสิ่งที่เข้าข่ายการละเมิดกฏหมายการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ห้ามการบังคับใช้แรงงาน"
จากเหตุการดังกล่าว กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลมายังข้อกล่าวหาที่ว่า เรือนจำไทยหลายแห่งใช้แรงงานผู้ต้องขังในการผลิตอวนเพื่อส่งให้บริษัทเอกชน โดยชี้ว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.ภาษีของสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยผู้ต้องขังหรือการบังคับใช้แรงงานโดยเด็ดขาด โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบต่อไป
อ่านรายงานฉบับเต็ม : https://news.trust.org/