เรื่องน่าทึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ คือ 'ซิฟิลิส' โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง จากการเปิดเผยของโรงพยาบาลบางรัก สาเหตุหนึ่งคือผู้คนติดเชื้อจำนวนมาก ไม่รู้ตัวว่าติดเนื่องจากไม่เคยผ่านการตรวจคัดกรองโรค โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15 - 24 ปี
วันนี้ คุณหมอธันยนันท์ กังวาฬพรโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรงพยาบาลบางรัก มาก่อนเวลานัด 15 นาที ในการให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ใช้เวลาช่วงพักเบรกหลังตรวจคนไข้ บอกเล่าและไขข้อข้องใจต่างๆ ที่มีต่อโรคซิฟิลิสให้เราฟัง
สิ้นฉากรักอันร้อนแรงและน่าตื่นเต้น ใครจะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเจอฝันร้าย ?
พลิกปฏิทินย้อนหลังไปเมื่อปี 2552 รายงานจากกรมควบคุมโรค ไทยมีตัวเลขผู้ป่วยโรคซิฟิลิสคิดเป็น 2.29 ต่อประชากรแสนคน และเพิ่มมาเป็น 11.91 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2561
คุณหมอธันยนันท์ อธิบายว่า ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์ การได้รับเลือด หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยซิฟิลิส
“ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์สอดใส่แค่ทางอวัยวะเพศเท่านั้น แต่ทางปาก ทางทวารหนักก็มีโอกาสติดเชื้อ”
จากกราฟจะเห็นว่ามีทางโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในโรคซิฟิลิส โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เนื่องจากหลายคนคิดว่าต่างฝ่ายต่างปลอดภัย
“เธอคลีน ฉันคลีน ไม่น่ามีปัญหา ไม่เคยไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดหาโรคกัน ขณะที่หลายๆ คนคิดว่าซิฟิลิสมักติดจากการไปเที่ยวซื้อบริการทางเพศ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สามารถเกิดขึ้นได้กับคู่รักหรือคู่เดททั่วๆ ไป” คุณหมอสาวกล่าว
(ภาพจาก Bangrak STIs Center (โรงพยาบาลบางรัก))
คุณหมอธันยนันท์ กล่าวว่า อาการของซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 3 ระยะ หลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก แบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) หน้าตาเป็นเกลียว จะใช้เวลาในการฟักตัวนานสุดราว 3 เดือน หลังจากนั้นร่างกายจะเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนักหรือช่องปาก เป็นลักษณะแผลริมแข็ง ไม่รู้สึกเจ็บ
“หากเป็นที่อวัยวะเพศหญิง ถ้าไม่เคยสำรวจก็จะมองไม่เห็นแผลเลย” เธอบอกต่อ “ไม่นาน แผลจะหายไปเอง โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นจนหลายคนตายใจ”
ระยะที่สอง จะเกิดผื่นขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้า บางคนขึ้นตามร่างกาย มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ เหมือนโดนแมลงแทะ และแผลที่อวัยวะเพศเรียกว่า condyloma lata บางคนอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย บางคนมีแค่บางอาการ แล้วก็หายไปในที่สุด
ระยะที่สาม ใช้เวลาอยู่ในร่างกายยาวนาน 10 – 30 ปี ก่อนจะแสดงอาการ เชื้อจะกัดกินอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งกระดูกและเส้นเลือด เปลี่ยนสภาพร่างกายจากคนแข็งแรงไปสู่ ‘ลำยอง’ นางเอกในละครเรื่องทองเนื้อเก้า
“มันกินเข้าไปในกระดูก บางคนถึงขั้นโพรงจมูกหาย หน้าผากยุบ นอกจากนั้นยังส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เสียสติ เสียการทรงตัว บางคนเจอกินที่ไปหัวใจและเส้นเลือด จนนำไปสู่การเสียชีวิต”
ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยระยะที่ 3 ในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้
หลายท่านเมื่อตกอยู่ในความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์มักเข้ารับการเจาะเลือดตรวจหาเฉพาะโรคเอชไอวีเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ครอบคลุม
“เอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบีและซี พวกนี้คือหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศทั้งหมดที่เราควรตรวจหา” พญ.ธันยนันท์แนะนำ
ปัจจุบันคนรักสนุกหลายรายมักเลือกรับประทานยาเพร็พ (PrEP) ยาต้านไวรัส ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสให้กับเหล่าเชื้อร้าย
“คนเอาแต่กังวลเรื่องเอชไอวีอย่างเดียว แต่กลายเป็นได้รับเชื้ออื่นๆ มาแทน” เธอบอก “ถุงยางอนามัยสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางไหน รวมถึงการออรัลเซ็กซ์ด้วย”
ท่ามกลางการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและง่ายดายในโลกออนไลน์ นำพามาซึ่งการเจอกันของผู้คนและเพศสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น พญ.ธันยนันท์ แนะนำว่า เมื่อไหร่ที่เกิดความกังวล การเข้ามาตรวจและพบแพทย์ถือเป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่ไม่ต้องเคอะเขิน
“เพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และโรคติดต่อทางเพศก็ไมใช่เรื่องน่าอายเหมือนกัน มาพบแพทย์เถอะค่ะ ไม่มีใครตีตราคุณหรอก”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ย้ำว่า การเอาชนะซิฟิลิสไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเข้ามาปรึกษาและรับยา สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: