งานวิจัยชิ้นล่าสุดภายใต้ชื่อ 'มลพิษทางสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคทางจิตเวชในสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์ก' ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางชีววิทยา PLOS Biology ชี้ว่า นอกจากคุณภาพอากาศต่ำจะส่งผลกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง ยังมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นในการเป็นโรคทางจิตเวช
งานวิจัยพบว่า ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายในทั้งสหรัฐฯ และเดนมาร์ก มีแนวโน้มที่จะถูกวินิจฉัยเป็นโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว และโรคซึมเศร้ามากกว่าประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสภาพอากาศที่เลวร้าย
'แอนดรีย์ เรทสกีย์' ผู้วิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคทางจิตเวช แต่มลพิษเป็นการค้นพบใหม่
'แอนดรีย์' อธิบายเพิ่มว่า ในงานวิจัยที่ทดลองกับสุนัขและหนูพบว่า มลพิษจะเข้าไปยังสมองและทำให้เกิดอาการอักเสิบขึ้นมาซึ่งส่งผลให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกับภาวะซึมเศร้า และมีความเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์เช่นเดียวกันจะเกิดกับมนุษย์
นอกจากนี้เมื่อมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลด้านสุขภาพและการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศของประชากรอเมริกัน 151 ล้านคน และผู้ป่วยโรคจิตเวชของเดนมาร์กจำนวน 1.4 ล้านคน นักวิจัยยังพบว่า ในเด็กเดนมาร์กอายุไม่เกิน 10 ปี ที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศคุณภาพต่ำมีแนวโน้มการเป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งตามความหมายอ้างอิงจาก พญ. นฤมล จินตพัฒนกิจ โรงพยาบาลศรีธัญญา คืออาการที่เกิดจากความผิดปกติของความคิด เช่น อาการหลงผิด หรือ ความคิดไม่ปะติดปะต่อ เป็นต้น และมีความเสี่ยงในการเป็นโรคจิตเวช หรือการมีความผิดปกติที่เกิดจากสารเคมีในสมอง เช่น ภาวะบุคลิกภาพผิกปกติ อาการซึมเศร้า และอาการอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
ขณะที่ข้อมูลในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของคุณภาพอากาศต่ำและการเพิ่มขึ้นของอาการซึมเศร้าและอารณ์แปรปรวน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสหรัฐฯ กลับไปไม่ได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพอากาศและอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคจิตเภท โรคลมชัก และ โรคพาร์กินสัน
อัตรายต่อสุขภาพที่มาพร้อมกับสภาพอากาศคุณภาพต่ำเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสังคมทั่วไป ตัวเลขประมาณการณ์จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกถึง 7 ล้านคน/ปี ซึ่งเท่ากับการเสียชีวิตนาทีละ 13 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังมากกว่า การนำตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสงคราม การฆาตรกรรม วัณโรค การติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ และโรคมาลาเรียมารวมกันด้วยซ้ำ นอกจากนี้ตามข้อมูลจากสถาบันศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของสหรัฐฯ ยังสะท้อนว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในปัจจุบันยังทำให้อายุขัยของเด็กแรกเกิดในปัจจุบันลดลงถึง 20 เดือน
สถานการณ์มลพิษในอากาศจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่มีการศึกษาที่สะท้อนความเชื่อมโยงของคุณภาพอากาศกับโรคทางจิตออกมามากเพียงพอ และแม้งานศึกษาชิ้นดังกล่าวจะเปรียบเสมือนการจุดประกายการศึกษาต่อ แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคนออกมาลงความเห็นว่างานศึกษายังคงขาดกรณีสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอต่อการกล่าวอ้างความเชื่อมโยง และยังต้องมีการศึกษาอีกมากจนกว่าจะออกมาสรุปความสัมพันธ์ได้
อ้างอิง; World Economic Forum