ตามรายงานระบุว่า ในเดือน ต.ค. 2564 เอนโด ซึ่งมีอายุ 19 ปี ได้ก่อเหตุแทงพ่อแม่ของหญิงที่เขาแอบชอบจนเสียชีวิต ใช้มีดพร้าฟันน้องสาวของเธอ และจุดไฟเผาบ้านของพวกเขาในจังหวัดยามานาชิ ในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว อย่างไรก็ดี อัยการญี่ปุ่นระบุว่าเด็กสาววัยรุ่นไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ
ในเวลาต่อมา เอนโดได้มอบตัวโดยส่งจดหมายที่ระบุว่า เขามีความแค้นกับเพื่อนนักเรียนหญิงคนดังกล่าว เพราะเธอปฏิเสธการรับรักจากเขา ทั้งนี้ ทนายฝ่ายจำเลยกล่าวว่าเอนโดไม่ควรรับผิดตามกฎหมาย โดยทนายกล่าวแย้งว่าเอนโดมีความบกพร่องทางจิตในขณะนั้น
ในการพิจารณาคดีต่อเอนโด ศาลญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่สภาพจิตใจของเอนโด และพิจารณาว่าเขาควรต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำของเขาในขณะที่เกิดเหตุหรือไม่ ทั้งนี้ อัยการที่ขอให้มีการลงโทษประหารชีวิตเขา ระบุว่าเอนโดควรรับผิดทางอาญา และเขาได้ฆ่าพ่อแม่ของเด็กสาวเพื่อทำร้ายเธอ
จุน มิคามิ ประธานผู้พิพากษา กล่าวว่าจำเลยมี “ความสามารถอย่างเต็มที่ในการรับผิดชอบต่ออาชญากรรมนี้” และ “อายุของเขาไม่ใช่เหตุผลที่จะหลีกเลี่ยงโทษประหารชีวิต” โดยตามคำตัดสินของศาลชี้ว่า เอนโดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา และมีโอกาสน้อยมากที่เอนโดจะได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนำไปสู่การตัดสินโทษประหารชีวิตในครั้งนี้
การตัดสินโทษประหารชีวิตในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการตัดสินการประหารชีวิต “ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นเยาวชน” นับตั้งแต่ญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายเยาวชนเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ด้วยการลดอายุผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายในการเป็นผู้ใหญ่ลงเหลือ 18 หรือ 19 ปี จากเดิมที่ 20 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จำเลยในกลุ่ม “ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นเยาวชน” จะได้รับการพิจารณาคดีเป็นกรณีพิเศษ โดยจำเลยจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเยาวชน แต่จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และได้รับโทษที่เหมาะสมในคดีอาญาร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม หรือข่มขืน นอกจากนี้ ชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ของจำเลยที่ถูกระบุว่าเป็นเยาวชน อาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะได้
นับตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ศาลฎีกาญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรฐานนางายามะ ในการตัดสินโทษประหารชีวิต โดยมีเพียง 7 คดีที่ศาลตัดสินโทษประหารชีวิตแก่ผู้กระทำผิดที่ก่ออาชญากรรมในฐานะผู้เยาว์ ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนเหยื่อ ความโหดร้าย และผลกระทบทางสังคมของอาชญากรรม ที่จะถูกนำมาใช้ในการตัดสินว่าจำเลยควรใช้โทษประหารชีวิตหรือไม่
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นประเทศกลุ่มเดียวใน 7 ประเทศของกลุ่ม G7 ที่ยังคงมีการลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการแขวนคอในญี่ปุ่น และการฉีดสารพิษในสหรัฐฯ
การประหารชีวิตในญี่ปุ่นมีตวามแตกต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการกำหนดวันประหารชีวิตไว้ล่วงหน้าและเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ต้องขังในญี่ปุ่นจะได้รับแจ้งในตอนเช้าของการประหารชีวิต ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นการสร้าง “ความเครียดทางจิตใจ” ต่อผู้ต้องขังและครอบครัวของพวกเขา
ที่มา: