ไม่พบผลการค้นหา
"เฉลิมชัย ศรีอ่อน" เผยอาจต้องพิจารณาประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ หากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ประเทศเมียนมารุนแรงขึ้น แต่ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เปิดเผยว่า ได้หารือถึงการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งระบาดในกัมพูชา ลาว และล่าสุดที่เมียนมา จึงได้สั่งการทุกภาคส่วนให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคเข้าไทยตลอดแนวชายแดน โดยเฉพาะที่เมียนมา แม้เป็นประเทศที่ระบาดหลังสุด แต่การลุกลามของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กรมปศุสัตว์ต้องเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดในจังหวัดเชียงราย 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการทำลายสุกรในจังหวัดเชียงรายไปหลายพันตัว เนื่องจากตามมาตรฐานการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ระดับสูงสุด หากพบสัตว์ป่วยและตายโดยไม่ทราบสาเหตุให้ทำลายทิ้งทั้งหมดในรัศมี 1 กิโลเมตรจากจุดพบโรคแล้วฝังกลบ อีกส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือเข้ารับซื้อสุกรที่ยังดีและไม่อยู่ในรัศมีการเกิดโรคไปชำแหละจำหน่าย โดยใช้เงินกองทุนของสมาคมฯ สนับสนุนให้เกษตรกรรับซื้อเป็นรายตัวตามราคาตลาด ทั้งนี้ การลดจำนวนสุกรให้เหลือน้อยที่สุดเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้คุมเข้มการเคลื่อนย้ายสุกรทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะมีโทษตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรค หากเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษสูงขึ้น 

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือกันว่าหากสถานการณ์โรคในเมียนมารุนแรงอาจจำเป็นต้องประกาศจังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ แม้จะยังไม่พบสุกรป่วยหรือตายผิดปกติก็ตาม แต่กำหนดให้เป็นพื้นที่กันชนเพื่อความปลอดภัยอีกขั้น แต่ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจึงรับประทานเนื้อสุกรได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมพิกบอร์ดกล่าวถึงสถานการณ์ของโรค ASF ที่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้งกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเหมือนถูกล้อม โดยที่เมียนมานั้น แม้จะระบาดหลังกัมพูชาและลาว แต่เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ดังนั้น การที่รัฐบาลจะควบคุมโรคจึงทำได้ยาก อีกทั้งเมื่อสุกรตายจะทิ้งลงแม่น้ำรวก เกรงว่าหากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่เป็นระบบเปิดและอยู่ใกล้แม่น้ำรวก นำน้ำจากแม่น้ำมาใช้เลี้ยงสุกรอาจทำให้สุกรในฟาร์มติดโรคได้

นอกจากนี้ หลายฟาร์มจ้างชาวเมียนมาเลี้ยงสุกร ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้เดินทางไป-กลับระหว่างเมียนมาและไทยบ่อย จึงมีความเสี่ยงอาจลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรจากฝั่งเมียนมาเข้าไทย รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสก่อโรค ASF มาตามร่างกายและเสื้อผ้าจากฝั่งเมียนมาเข้ามายังฟาร์มได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการเกิดโรคในจังหวัดเชียงรายอย่างเต็มที่และลดจำนวนสุกรที่เลี้ยงในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุด

ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยานพาหนะที่ผ่านตามด่านพรหมแดนที่เฝ้าระวังต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกคัน ซึ่งทำมาหลายเดือนแล้ว ขณะนี้ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเข้าไปรับซื้อสุกรจากเกษตรกรรายย่อย เพื่อนำมาชำแหละจำหน่าย โดยให้ราคากิโลกรัมละ 60 กว่าบาท ซึ่งเกษตรกรสมัครใจ ขณะนี้กำลังเจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อเกษตกรรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อเป็นทุนยกระดับการเลี้ยงสุกรให้ได้ตามมาตรฐานฟาร์มรายละ 50,000 – 100,000 บาท จำนวน 200,000 ราย ทำให้ระบบการป้องกันโรคของฟาร์มดีขึ้นมาก

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์ของโรคนี้ กำชับว่าหลังกลับจากสหรัฐอเมริกาให้กระทรวงเกษตรฯ รายงานเรื่องนี้ทันที ทั้งสถานการณ์ แนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรค แผนเผชิญเหตุ และมาตรการช่วยเหลือทุกด้าน” นายประภัตร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง