ไม่พบผลการค้นหา
ดรามา 'เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' สังคมตั้งข้อสงสัยรัฐบกพร่อง หรือ ชาวบ้านไม่รอบคอบ

จากกรณีชาวบ้านหลายรายถูกเรียกคืนเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' หลังกรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่ารับสิทธิ์ซ้ำซ้อนกับการรับเงินบำนาญพิเศษ ซึ่งขัดกับระเบียบของกระทรวงมหาดไทย จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการโยนบาปให้ชาวบ้านหรือไม่ บางส่วนมองว่าอาจเป็นความผิดพลาดของทางราชการหรือไม่ ที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติให้รอบคอบก่อนจะทำการมอบสิทธิ์

ทั้งนี้ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

1-27-2021 3-46-59 PM.jpg

รายแรกเป็นกรณี 'บวน โล่ห์สุวรรณ' อายุ 89 ปี ชาวบ้านใน ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ถูกกรมบัญชีกลางมีหนังสือมาเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืน รวมดอกเบี้ย เป็นจำนวนเงิน 84,000 บาท เนื่องจากรับบำนาญพิเศษ ภายหลังลูกชายเป็นทหารเสียชีวิตจากเหตุคลังแสงระเบิด 

"ทำไมไม่ทักท้วงตั้งแต่เริ่มแรกว่ายายไม่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะได้บำนาญพิเศษกรณีลูกชายเสียชีวิตแล้ว ทั้งที่ระบบราชการก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ปล่อยให้ล่วงเลยมาจนถึง 10 ปีแล้ว มาเรียกเงินคืน" บวน ระบุ 

รายต่อมา มะลิ เณรแขก อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่ต้องเซ็นรับสภาพหนี้แทนแม่ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2562 โดยต้องผ่อนคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนร่วมแสนบาท เนื่องจากพี่ชายเป็นทหารอากาศ แต่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตไปเมื่อปี 2526 จึงทำให้แม่ได้รับเงินบำนาญพิเศษ มาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมะลิ พักอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ 

และล่าสุดมีรายงานว่า พบผู้สูงอายุจำนวน 13 ราย ในพื้นที่ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถูกเทศบาลตำบลจอหอเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยยังชีพคืนย้อนหลัง ตามคำสั่งของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หลังจากตรวจพบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นได้รับเงินบำนาญพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ซึ่ง วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้ท้องถิ่นจังหวัดเข้าไปตรวจสอบและเข้าไปดูแลในเรื่องนี้แล้ว  


กรมบัญชีกลาง ยืนยันไม่มีหน้าที่เรียกคืน

นิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า มีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญไปพร้อมๆกัน ในทางปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นๆ จะต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับคนชรานั้นๆ จะทำหน้าที่เรียกเงินคืน ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกเงินคืนได้แล้ว จะมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวส่งคืนเข้าคลังหลวง เพราะถือเป็นเงินของแผ่นดิน

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงเพิ่งมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่การจ่ายเงินคนชราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าว เพิ่งจะมีการเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2563 ดังนั้น ข้อมูลที่พบว่า มีการรับเงิน 2 ทาง คือ ทั้งเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญจึงเกิดขึ้น


รมว.คลังสั่งหาทางแก้ไข

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานข่าวว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้กรมบัญชีกลางหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไร ให้การได้รับสิทธิทั้ง 2 สิทธิ ทำได้ถูกต้อง เพราะเป็นสิทธิที่ผู้มีสิทธิควรได้รับ ไม่ควรไปตัดสิทธิ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขข้อกฎหมายอะไรก็ให้เสนอขึ้นมา เพื่อพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป


สภาทนายฯ พร้อมช่วยเหลือ

ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สภาทนายความคาดว่าน่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และผู้ที่รับเบี้ยยังชีพชราภาพไม่ได้เจตนากระทำผิด เพียงแต่ไม่ทราบเงื่อนไขหลักเกณฑ์การรับเงิน ซึ่งต้องหาทางตรวจสอบและหามาตรการช่วยเหลือ

ส่วนข้อกฎหมายที่สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีนี้นั้น ต้องกลับไปศึกษาข้อกฎหมายก่อน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับหลายหน่วยงาน แต่ทางสภาทนายความก็พร้อมช่วยเหลือ โดยเรามีหน่วยงานสภาทนายประจำทุกจังหวัดที่พร้อมให้คำปรึกษา และให้ความเป็นธรรม


เพื่อไทย ซัดกลไกลรัฐไร้ประสิทธิภาพ

อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาการบริหารของรัฐบาลที่ปล่อยให้กลไกรัฐดำเนินการโดยการผลักภาระไปให้ชาวบ้าน แทนที่จะแก้ที่ต้นตอของปัญหาโดยเฉพาะโครงสร้างระบบราชการใหญ่โตแต่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดการทำงานบูรณาการและขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานจ่ายเบี้ยคนชรา และกระทรวงการคลัง รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานจ่ายเงินบำนาญ

ทั้งที่ในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Services : GDCC) วงเงินรวม 4,073 ล้านบาท ที่ควรจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลของประชาชนทุกกระทรวง เก็บข้อมูลประชาชนทุกคนตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และยังมีคณะกรรมการ Big Data ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ มีผู้เชี่ยวชาญเกือบ 40 คน แต่ยังขาดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกระทรวง หากรัฐใช้เครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความผิดพลาดของข้อมูลการจ่ายเงินของหน่วยงานต่างๆ ได้


'ศรีสุวรรณ' รัฐบกพร่องตรวจสอบ

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ต้องถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงจะชอบ การที่กรมบัญชีกลางทำหนังสือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไปไล่เบี้ยเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :