ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การลงคะแนนเสียงที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทย เป็นโอกาสสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันต่อสาธารณะถึงเจตจำนงค์ที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ภาคประชาสังคม และเยาวชน หากได้รับเลือกตั้ง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยต้องรับประกันว่า ประชาชนในไทยจะสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการสมาคม รวมทั้งจะไม่ต้องถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงออกอีกต่อไป นอกจากนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกการดำเนินคดีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่ขัดขวางการใช้สิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่
“ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ประกอบกับการลุกฮือเพื่อชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชนทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับโรคระบาดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก ทั้งยังเพิ่มทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผลต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
“ประมาณ 7.6% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคนในประเทศไทยเป็นผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา เยาวชนเหล่านี้จำนวนหลายคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงในช่วงสามปีที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยภาครัฐ หากพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามา พวกเขาควรรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงเยาวชน และควรตอบรับข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงของประชาชนและแสดงเจตจำนงค์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน”
ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อจัดทำ ชุดข้อเสนอด้านนโยบาย เกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิงและชนพื้นเมือง ข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเรียกร้องให้ผู้สมัครสามารถจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายอันมุ่งให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยังได้จัดเวทีสาธารณะในหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และปัตตานี เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเหล่านี้ต่อพรรคการเมือง และให้นักการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเมษายน 2566 มีบุคคลอย่างน้อย 1,902 คนที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ อีกทั้งมีบุคคลอย่างน้อย 1,469 คนถูกดำเนินคดีฐานละเมิดข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งประกาศใช้ตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย และมีอีก 167 คนถูกดำเนินคดีตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการแชร์ข้อมูลที่เห็นต่างจากรัฐทางออนไลน์
มีอย่างน้อย 242 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และอีก 130 คนถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย ทั้งนี้ มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีขณะที่ถูกดำเนินคดี 284 คนถูกดำเนินคดีอาญา โดย 18 คนในจำนวนดังกล่าวถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก และมีความเป็นอิสระจากรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานของเรามิได้สนับสนุนหรือต่อต้านพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใดๆ โดยปกติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานเพื่อเรียกร้องให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก