นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดเพื่อขอกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 1.96 ล้านล้านบาทว่า การกู้เงินจำนวน 1.96 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ยอด โดยจำนวนกว่า 9 แสนล้านบาท โดยให้อำนาจกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ตั้งกองทุนเข้ามาแก้ปัญหา เข้าไปซื้อหุ้นกู้ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดมทุน เกรงว่าจะเกิดปัญหาซื้อหุ้น เพราะจะซื้อแต่หุ้นดี
หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ที่เรียกกันว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่รัฐบาลจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.เข้ามาขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินในราคาถูกให้ต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง800,000 ล้านบาท
นายสงวน กล่าวด้วยว่า เงินกู้จำนวน 1.96 ล้านล้านบาท น่าสนใจ หากวิธีคิดและรูปแบบการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่เปลี่ยน ไปจากเดิม จะไม่ต่างจากการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลคือการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณยากมาก และคนที่รับผิดชอบในการใช้หนี้คือประชาชน แต่แนวคิดของพลเอกประยุทธ์ คือ รู้ดีทุกเรื่อง แต่มีการบริหารผิดพลาดมาตลอด เพราะที่ผ่านมาคิดว่าหากช่วยคนกลุ่มที่มีฐานะแล้วคนกลุ่มนี้จะไปช่วยคนอีกกลุ่ม เป็นแนวคิดที่ผิด เพราะมีแนวคิดว่าหากกลุ่มทุนดีขึ้นหรือได้ประโยชน์ก็จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย
“พลเอกประยุทธ์ ต้องเร่งศึกษากระบวนการในการแก้ปัญหาของชาติอย่างเป็นระบบ ไม่อย่างนั้นเงินที่กู้มา จะเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาล ทั้งนี้การแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยที่มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันจะสามารถแก้ปัญหาได้ อย่าเอื้อกับกลุ่มทุน หากรัฐบาลนำงบประมาณไปแก้ปัญหาให้ประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตร เพราะทั้งโลกกำลังขาดอาหาร หากพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับก็จะเป็นการช่วยเหลือและสร้างเม็ดเงินจากภาคเกษตรได้อย่างแน่นอน เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล” นายสงวน กล่าวในที่สุด