นพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าการพูดคุยเรื่องสถานการณ์เมียนมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่อาเซียนเห็นพ้องอยากให้เกิดสันติภาพโดยเร็วตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และตอบรับกับข้อเสนอของไทยที่จะสร้างจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา
ตนเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งพิเศษ โดยมีพรมแดนติดกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะเพื่อนบ้าน เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวไม่เป็นผล การต่อสู้กันด้วยอาวุธยังมีเป็นระยะ ตนจึงอยากเน้นย้ำข้อเสนอ 5 ข้อ ที่เคยเสนอผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว คือ
1) ไทยต้องมุ่งมั่นทำงานให้เข้มแข็งต่อเนื่องในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับอาเซียนผลักดันฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ร่วมกับจีน อินเดีย และผู้มีส่วนได้เสียอื่น อาจเรียกเป็น กลุ่มทรอยก้าพลัส เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเมียนมาให้ต่อเนื่อง
2) เปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างไทยกับเมียนมา โดยรวมทั้งฝ่ายรัฐบาล SAC ฝ่าย NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า) และกลุ่มชาติพันธุ์
3) เรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจ ลดการใช้ความรุนแรง และหันมาใช้การพูดคุยเจรจากันมากขึ้น
4) ไทยควรมีกลไกในรูปคณะกรรมการดูแลและเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างต่อเนื่อง และ
5) ทบทวนกรณีผู้อพยพหนีภัยในไทย โดยเฉพาะผู้ที่หนีภัยมาแล้วกว่า 40 ปี เพื่อให้อยู่กลมกลืนกับสังคมไทย และควรประเมินสิทธิในการทำงาน การศึกษา การเดินทางไปประเทศที่ 3
“ นอกจากนั้น ในการสัมนาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในพลวัตโลก“ ที่ผ่านมา นักวิชาการชั้นนำหลายท่านได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่าถ้าจะให้แก้ปัญหาสำเร็จ เราต้องเข้าใจสถานการณ์ในเมียนมาอย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง พูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและโน้มน้าวให้มาสู่โต๊ะเจรจา ต้องทำงานหนักในกรอบอาเซียนที่มีไทยเป็นผู้นำ ผนึกอาเซียน ประสานมหาอำนาจทั้งจีนและอินเดีย
คล้ายโมเดล Troika ที่ใช้เคยใช้แก้ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วในอดีต มาผนึกความพยายามช่วยกันคิดหาทางออกให้กับปัญหาเมียนมาร่วมกัน” นายนพดลกล่าว