ไม่พบผลการค้นหา
นอกจากไทยมีประเทศไหนบ้างที่ประชาชน/เอกชนต้องควักเงินจ่ายค่าวัคซีนต้านโควิด-19 กันเอง แล้วอะไรคือจุดร่วมของประเทศเหล่านี้ ?

จากแผนจัดสรรที่ดูผิดแผกจากการบริหารความเสี่ยงในยามฉุกเฉิน - เมื่อรัฐบาลเลือกแทงม้าตัวเดียวสั่งแอสตร้าเซนเนก้า ที่กว่าจะเริ่มผลิตได้จริงก็เดือน มิ.ย.2564 และต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี 2563 - จนถึงปัจจุบันที่หลายโรงพยาบาลทยอยเลื่อนนัดฉีดวัคซีนของผู้ลงทะเบียนกันเป็นแถว 

ความหวังของคนไทยที่ยังมีกำลังทรัพย์จำนวนมากมาตกกับฝั่งเอกชนผู้(เพิ่ง)ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนทางเลือกเสียที หลังร้องขอกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 

ก่อนหน้านี้ 'วอยซ์' เคยชวนผู้อ่านไปดูวิธีการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศต้นแบบหลายๆ แห่งมาแล้ว ว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้จึงอยากนำเสนอข้อมูลชุดใหม่ว่าขณะนี้มีประเทศใดบ้างที่รัฐบาลเลือกเปิดตลาดวัคซีนโควิด-19 ให้กับภาคเอกชน 

ผองเพื่อนของไทย

ตามข้อมูลจาก market research telecast ปัจจุบันมีรัฐบาลของ 6 ประเทศ (ไม่รวมไทย) ที่อนุญาตให้เอกชนสามารถถือครองและบริหารวัคซีนได้ ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, ฮอนดูรัส, อินเดีย, โคลัมเบีย และเม็กซิโก 

แม้ความตั้งใจหลักของประเทศเหล่านี้ คือให้เอกชนเข้ามาช่วยกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น แต่หลายฝ่ายพบว่า ในประเทศอย่างอินเดียและปากีสถาน เมื่อรัฐบริหารงานล่าช้า แต่เปิดให้ผู้มีกำลังทรัพย์ซื้อวัคซีนเองได้ ก็เลี่ยงประเด็นความเหลื่อมล้ำยาก 

บางประเทศ รัฐพยายามเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น กำหนดเพดานราคา กำหนดช่วงเวลา แต่บางประเทศก็ไม่มีมาตรการใดๆ 

  • อินโดนีเซีย: เอกชนซื้อ ประชาชนไม่ต้องจ่าย 

จากบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์กับสื่อท้องถิ่น ของ 'นีนิค กุน นาระยาตี' เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศอาร์เจนตินา พบว่า รัฐบาลของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่หนึ่งของอาเซียนและอันดับที่สี่ของโลก ต้องการจัดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมพลเมือง 70% ภายในเดือน มี.ค. 2565 

ตัวเลขเป้าหมายที่มากกว่า 190 ล้านคน ทำให้รัฐบาลโจโก วีโดโด เปิดทางให้เอกชนสามารถถือครองและนำเข้าวัคซีนที่ไม่อยู่ในการจัดสรรของรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ทูตนีนิค ย้ำว่า "(เอกชน)ไม่มีสิทธิขายวัคซีนนำเข้าเหล่านี้ให้กับสาธารณะ" หมายความว่า คนอินโดนีเซียไม่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อวัคซีนอยู่ดี ไม่ว่าวัคซีนเหล่านั้นจะมาจากการสรรหาของรัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม 

วัคซีน - อินโดนีเซีย - เอเอฟพี - โควิด
  • ภาพการฉีดวัคซีนที่เมืองซูราบายาของอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียทำสัญญาซื้อขายวัคซีนกับ 'ซิโนแวค' ไปทั้งสิ้น 68.5 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดสจาก 'ซิโนฟาร์ม' ทั้งยังมีสัญญาวัคซีนอีก 6.4 ล้านโดส กับแอสตร้าเซนเนก้าผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) 

ขณะที่ประมาณการตัวเลขซื้อขายและราคาที่เอกชนต้องจ่ายสำหรับวัคซีนหนึ่งโดสของแต่ละแบรนด์ เป็นไปตามนี้:

  • แอสตร้าเซนเนก้า 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • โนวาแวกซ์ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ซิโนแวค 13.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ไฟเซอร์ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ซิโนฟาร์ม 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • โมเดอร์นา 25 ดอลาร์สหรัฐฯ

เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนที่รัฐบาลอนุญาตเท่านั้น และต้องหลังจากที่รัฐบาลเสร็จสิ้นการแจกจ่ายวัคซีนให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงแล้วเท่านั้น

ตามการประมาณการจากรัฐบาลอินโดนีเซีย มีเอกชนมากกว่า 22,000 บริษัทลงทะเบียนในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมตัวเลขพนักงานและครอบครัวราว 7 ล้านคน 

อินโดนีเซียที่เริ่มฉีดวัคซีนช่วงต้นปีที่ผ่านมา สามารถแจกจ่ายวัคซีนได้ราว 7% ของประชากรเท่านั้น เมื่อนับถึงวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส 4.2% และผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 3.1% เท่านั้น 

  • อินเดีย: นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

ก่อนอินเดียจะขึ้นมาทำสถิติโลกด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 400,000 ราย รัฐบาลของนเรนทรา โมที บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับ 95 ประเทศทั่วโลก ไปทั้งสิ้น 66 ล้านโดส ประเทศแห่งนี้ยังเป็นผู้ผลิตวัคซีนโปลิโอ, คอตีบ และอีกหลายโรคเป็นอันดับหนึ่งของโลก 

เมื่อแผนปกติมีปัญหา รัฐบาลกลางออกมาบอกให้แต่ละรัฐสั่งซื้อวัคซีนเองจากผู้ผลิตท้องถิ่นหรือการนำเข้าจากผู้ผลิตต่างประเทศ แต่การลอยแพเช่นนี้ทิ้งภาระหนักให้แต่ละรัฐต้องไปแข่งกันเองอีกทีเพื่อชิงวัคซีนมาครอง 

โมดี เปลี่ยนแผนอีกครั้งท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนัก โดยระบุว่าต่อจากนี้ จากวัคซีนที่ผลิตได้ 100% ราว 75% รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลแจกจ่ายให้แต่ละรัฐและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปโดยไม่คิดเงิน 

วัคซีนอีก 25% ที่เหลือ รัฐบาลจะทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง มีราคากำกับสูงสุดของวัคซีนแต่ละประเภทดังนี้

  • วัคซีนโควาซิน ราคาไม่เกิน 1,410 รูปีอินเดีย (ประมาณ 600 บาท)
  • วัคซีนโควิดชีลด์ ราคาไม่เกิน 780 รูปีอินเดีย (ประมาณ 330 บาท)
  • วัคซีนสปุตนิก วี ราคาไม่เกิน 1,145 รูปีอินเดีย (ประมาณ 500 บาท) 
โควิด - อินเดีย - เอเอฟพี
  • ภาพหญิงสาวสองคนกำลังร่ำไห้บริเวณหน้าฌาปนสถานแห่งหนึ่งในอินเดีย

ขณะที่ค่าบริการทางการแพทย์ถูกตั้งไว้ที่ราคา 150 รูปีอินเดีย (ประมาณ 65 บาท) โดยค่าแรงขั้นต่ำของอินเดียอยู่ที่ประมาณ 176 รูปีอินเดีย/วัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 75 บาท เท่านั้น 

  • ปากีสถาน : วัคซีนไม่เหลือ เหลือความเหลื่อมล้ำ 

รัฐบาลปากีสถานไม่ได้ดำเนินนโยบายเสรีวัคซีนที่ต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียมากนัก ทว่าจุดต่างสำคัญอยู่ที่ช่วงแรกของการเปิดเสรีนี้ กลับไม่มีการตั้งเกณฑ์ราคาจำหน่ายสูงสุดแต่อย่างใดออกมาปกป้องผู้บริโภคหรือประชาชนแม้แต่ข้อเดียว

ล็อตแรกของวัคซีนรัสเซียนำเข้าอย่าง 'สปุตนิก วี' ถูกจัดจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาสูงถึง 12,000 รูปีปากีสถาน/ 2 โดส หรือคิดเป็นเงินราว 2,400 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานอยู่ที่ราว 15,000 รูปีปากีสถาน/เดือน หรือคิดเป็นเงินราว 3,000 บาทเท่านั้น 

จากจุดยืนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศเคยให้สัมภาษณ์ว่า "การแข่งขันจะเป็นเกณฑ์กำหนดราคาเอง" เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นและวัคซีนที่เอกชนนำเข้ามาไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี รัฐบาลปากีสถานจึงกลับลำ ยกเลิกคำสั่งไม่มีราคาเพดานสำหรับวัคซีนนำเข้าและตั้งราคาขายสูงสุดขึ้นมา 

การยกเลิกประกาศครั้งนี้ทำให้เอกชนผู้นำวัคซีนเข้าไม่พอใจ 'AGP Pharma' ซึ่งสั่งซื้อวัคซีนสปุตนิก วี เข้ามาจำนวน 50,000 โดส ยื่นเรื่องดังกล่าวถึงศาลในประเทศ และได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สามารถขายวัคซีนต่อได้ในราคาที่บริษัทเป็นผู้กำหนดเอง ไม่ใช่ราคาเพดานใหม่ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น ขณะที่บริษัทผู้นำเข้ารายอื่นกำลังทยอยเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน 

ปากีสถาน - เอเอฟพี
  • ภาพครอบครัวหนึ่งออกมาเล่นน้ำคลายร้อน บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ณ วันที่ 13 มิ.ย.2564

หากย้อนกลับไปตั้งต้นกันตั้งแต่ มี.ค.2563 อาจกล่าวได้ว่า ปากีสถานเจอการระบาดใหญ่ที่ส่งผลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน 2 รอบ คือช่วง มิ.ย.2563 กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแตะจุดสูงสุดราว 6,500 คน และอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.2564 กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันประมาณ 5,000 คน 

ตามข้อมูล ณ วันที่ 13 มิ.ย.2564 สัดส่วนการฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อยหนึ่งโดสอยู่ในระดับ 3.7% เท่านั้น โดยความรวดเร็วเพิ่งจะมาปรับตัวดีขึ้นหลังเข้าสู่การระบาดรอบสองของประเทศแล้วเท่านั้น 

  • ฮอนดูรัส: รัฐบาลเชื่องช้า เอกชนต้องมากู้ชาติ 

ประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง (ลาตินอเมริกา) ที่มีประชากรราว 10 ล้านคนอย่างฮอนดูรัสประสบปัญหาอย่างหนักในการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชน ไม่เพียงการเริ่มต้นที่ล่าช้าจนกว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกก็เลยไปถึงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันมีคนฮอนดูรัสได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพียง 4% เท่านั้น 

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไร้ศักยภาพของรัฐบาลนำไปสู่การลงนามความตกลงระหว่าง สภาบริษัทเอกชนแห่งฮอนดูรัส หรือ 'Cohep' กับภาครัฐ เพื่ออนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถติดต่อนำเข้ามาวัคซีนมาฉีดกับให้พนักงานของตนเองได้ ภายใต้โครงการที่ชื่อ 'ฮอนดูแวค' (Honduvac)

ฮอนดูรัส - เอเอฟพี - วัคซีน - โควิด
  • ภาพเด็กชายกำลังถือป้ายที่มีใจความขอบคุณประธานาธิบดีประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่บริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ชาวฮอนดูรัส

'ฮวน คาร์ลอส ซิกาฟฟี' ประธานโคแฮปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า "เราต้องขึ้นมาสวมบทบาทที่เลี่ยงไม่ได้นี้เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ...เรารู้สึกว่า(รัฐบาล)ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะตอบสนองต่อปัญหาร้ายแรงครั้งนี้อย่างรวดเร็ว"

นอกจากจะขึ้นมาสวมบทนำจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทเอกชนอย่างต่ำ 800 แห่งที่สนใจเข้าร่วมฮอนดูแวค ล่าสุด ซิกาฟฟี ยังตั้งเป้าจัดหาวัคซีนอีก 1.5 ล้านโดสให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปบริหารจัดการต่อด้วย ทว่าหลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลอย่างหนักว่าเงื่อนไขที่เอกชนจะซื้อวัคซีนให้รัฐบาลเป็นอย่างไร จะสุ่มเสี่ยงต่อการทิ้งกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลังหรือไม่ 

เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่โดยรวมแล้วรัฐบาลตั้งใจจะแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทว่าติดตรงที่ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ ขณะที่ฝั่งเอกชนผู้นำเข้าวัคซีนย้ำว่าเป้าหมายคือการนำเข้ามาเพื่อช่วยเหลือพนักงานและครอบครัว ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย ส่วนวัคซีนที่เอกชนจะจัดหามาให้รัฐบาลนั้นไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติม 

  • เม็กซิโก-โคลัมเบีย: อนุญาตแล้วแต่ยังไม่ซื้อ 

สำหรับสองประเทศที่มีรูปแบบการบริหารจัดการประเด็นภาคเอกชนกับวัคซีนโควิด-19 คล้ายคลึงกันนั้น พบว่า แม้รัฐบาลของทั้งสองชาติจะอนุญาตให้เอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิตได้ แต่นับจนถึงปัจจุบันยังไม่มีเอกชนรายใดลงนามสั่งซื้อวัคซีนแม้แต่เจ้าเดียว 

สำหรับเม็กซิโก ปัจจุบันมีการแจกจ่ายแค่เพียงวัคซีนจากไฟเซอร์เท่านั้น ทว่าประเด็นที่น่าสนใจคือช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บุลคลากรทางการแพทย์ที่สังกัดอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลที่ทอดทิ้งพวกเขาจากการเข้าถึงวัคซีน ทั้งที่ตนเองจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ขณะที่รัฐบาลออกมาโต้กลับว่า วัคซีนต้องให้กับประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปก่อน 

สำหรับโคลัมเบีย ภาคเอกชนจะสามารถแจกจ่ายวัคซีนนำเข้าได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลดำเนินแผนวัคซีนแห่งชาติเข้าสู่ขั้นที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันนี้รัฐบาลโคลัมเบียเลือกกระจายวัคซีนตามระดับระอายุเป็นหลัก โดยขึ้นแรกได้จัดฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปแล้ว ขณะที่ขึ้นปัจจุบันคือการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และขั้นที่สามจะเป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 


จุดร่วมของทุกชาติที่น่าสนใจ 

ข้อมูลข้างต้นเป็นการพูดถึงดีลวัคซีนในภาคเอกชนของแต่ละประเทศและสถานการณ์ภาพรวม ทว่าหากลองมาวิเคราะห์ดูถึงสาเหตุที่ทำให้ภาระงานดังกล่าวตกไปอยู่กับเอกชนของประเทศเหล่านั้น รวมถึงไทยด้วย พบจุดร่วมกัน 2 กรณี คือ ไม่ใช่ประเทศรายได้สูงและมีปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน 

  • รายได้ปานกลางระดับต่ำถึงสูง 

ตามข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2562 ทุกประเทศข้างต้นล้วนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเท่านั้น จะแตกต่างกันก็เพียงระดับย่อยที่บางประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับต่ำขณะที่บางประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ไม่มีประเทศใดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง 

ตามการจำแนกของธนาคารโลกด้วยข้อมูลเก่า (ถึงวันที่ 1 ก.ค.2563) ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวในระดับ 1,026-3,995 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ประมาณ 32,000-124,000 บาท/ปี จัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ

ขณะที่ขั้นของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ที่ 3,996-12,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 124,000-385,000 บาท/ปี (ปัจจุบันธนาคารโลกมีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว)

ส่วนประเทศที่จะนับเป็นขั้นประเทศรายได้สูง ประชากรต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวตั้งแต่ 12,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือ 385,000 บาท/ปี ขึ้นไป 

  • กราฟแสดงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรรายประเทศ ข้อมูลถึงปี 2562

กราฟจากธนาคารโลก(ด้านบน)วางตำแหน่งให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อเทียบกันทั้ง 7 ประเทศ ตามข้อมูลในปี 2562 ปากีสถานเป็นชาติที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำที่สุด ตัวเลขประมาณ 1,410 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (ประมาณ 44,000 บาท) เท่านั้น ตามมาด้วยอินเดียในอันดับรองสุดท้าย ที่ตัวเลข 2,120 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 66,000 บาท) 

ชาวเม็กซิโกมีรายได้สูงที่สุดด้วยตัวเลขเฉลี่ย 9,480 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 295,000 บาท) โดยมีไทยตามมาเป็นอันดับที่สองของประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดในกลุ่มนี้ ที่ตัวเลขประมาณ 7,260 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (ประมาณ 225,000 บาท) ก่อนจะไล่มาที่โคลัมเบีย, อินโดนีเซีย และฮอนดูรัส ตามลำดับ 

  • รัฐบาลทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน(โลกที่หนึ่ง)

อีกหนึ่งจุดร่วมสำคัญของทั้ง 7 ประเทศคือการบริหารจัดการวัคซีนที่มีปัญหา สำหรับไทย เหมือนทุกอย่างผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรก ล็อคเป้าซื้อวัคซีนแบรนด์เดียว ไม่มีแผนสำรองสำหรับการระบาดระลอกใหม่ และดีลวัคซีนเอกชนรัฐบาลที่คลุมเครือ 

เมื่อลองดูกราฟแสดงอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อยหนึ่งโดสของทั้ง 7 ประเทศ (ด้านล่าง) เทียบกับระดับค่าเฉลี่ยโลก, ค่าเฉลี่ยของประเทศในสหภาพยุโรป, ค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกา และค่าเฉลี่ยของสหราชอาณาจักร ซึ่งล้วนเป็นประเทศรายได้สูงทั้งหมดนั้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน 

  • กราฟแสดงสัดส่วนประชากรของแต่ละประเทศ/ภูมิภาคที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดส

นับจนถึง 13 มิ.ย.2564 ค่าเฉลี่ยที่ประชากรโลกได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 20.65% ขณะที่จาก 7 ประเทศของการเปรียบเทียบครั้งนี้ มีโคลัมเบียทำได้สูงสุดที่ 20%

ทว่าเมื่อมองขึ้นไปยังระดับการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศพัฒนาแล้ว สหภาพยุโรปอยู่ที่ 44% สหรัฐฯ รั้งอันดับที่สองด้วยระดับ 51% และสหราชอาณาจักรครองอันดับหนึ่งที่สัดส่วนกว่า 60% 

ในจักรวาลคู่ขนาน ประเทศอย่างอินโดนีเซีย, ไทย, ฮอนดูรัส และปากีสถาน ยังไม่อาจแจกจ่ายวัคซีนได้ถึงระดับเลขสองหลักของเปอร์เซนต์ประชากรด้วยซ้ำ 

ทั้ง 7 ประเทศที่เปิดทางให้เอกชนเข้ามาแก้ปัญหาความล่าช้าของวัคซีนนั้น ล้วนหวังเหมือนๆ กันว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะถูกต้องและเป็นผลดีกับประชาชนมากที่สุด แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่เป็นหน้าที่ที่ประชาชนของแต่ละชาติต้องร่วมกันหาคำตอบ ผ่านทั้งการตรวจสอบและตั้งคำถาม

อ้างอิง; The Economist, Reuters, Devex, CNN, Indian Express, NYT, AP, France24, Larazon

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;