ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงรัฐสภา ขอให้พิจารณากฏหมายฉบับหนึ่งที่รัฐสภาได้เคยเห็นชอบแล้ว ให้พิจารณาอีกครั้ง กฏหมายฉบับดังกล่าวคือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดวิสัยว่าเพราะเหตุใดกฏหมายที่ผ่านไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศใช้ จะถูกตีกลับมาให้ทบทวนใหม่ได้

ครม.แจ้งเหตุผลว่า นายกรัฐมนตรีได้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อ 31 ม.ค. 2565 แต่หลังผ่านไปครบ 90 วันแล้ว พระมหากษัตริย์มิได้พระราชทานร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคืนมา ซึ่งมาตรา 146 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่าง พ.ร.บ.นั้นใหม่

หรือเรียกโดยย่อคือ กฏหมายฉบับนี้ถูกใช้อำนาจวีโต้ (Veto) หรือถูกยับยั้ง โดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์


ความเป็นมา ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ

ไอลอว์ ได้ทำสรุปเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระจุลจอมเกล้าฯ ไว้ ว่าถูกเสนอโดย ครม. เพื่อแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ปี 2484 โดยเสนอให้ยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10 ที่วางหลักการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ว่า กรณีที่บิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บุตรชายจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้นเป็นการสืบตระกูลต่อไป โดยยึดเอาบุตรชายคนโตที่ได้รับการยกย่อง มีความประพฤติดีสมเกียรติแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์

การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10 เท่ากับยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เสียชีวิต ผู้รับมรดกจะต้องคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้นภายใน 30 วัน ไม่อาจส่งต่อไปยังบุตรชายได้อีก

กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 22 ธ.ค. 2564 และสภาได้พิจารณาพร้อมลงมติผ่าน 3 วาระรวดภายในเวลาเพียง 28 นาทีเท่านั้น โดยไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย จากนั้น วุฒิสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ในวันที่ 17 ม.ค. 2565 และลงมติเห็นด้วย 3 วาระรวดเช่นเดียวกัน โดยในวาระที่ 3 มีเสียงลงมติเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์

ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ระบุว่า พ.ร.บ.เครื่องราชฯ นั้นไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ เพราะกำหนดการสืบตระกูลสงวนไว้เฉพาะบุตรชายคนโต ตนจึงเห็นว่ามีความสมควรอย่างยิ่งที่จะแก้ไขกฎหมาย

เครื่องราช.jpg


ใช้พระราชอำนาจยับยั้ง ครั้งแรกในรัชสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้นจาก 2 สภา ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ กลับสะดุดลง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคืนมาภายใน 90 วัน เป็นเหตุให้ร่าง พ.ร.บ.นั้น ยังไม่ถูกประกาศใช้ และรัฐสภาต้องรับกลับมาทบทวนใหม่ ซึ่งได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 7 มิ.ย. 2565

เมื่อ 6 มิ.ย. 2565 แหล่งข่าวในสภาผู้แทนราษฎร เผยต่อ ‘วอยซ์’ ว่า สมาชิกรัฐสภาได้รับหนังสือจาก ครม. เพื่อให้รับทราบว่ารัฐสภาต้องรับร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ กลับมาปรึกษาใหม่

ในวันต่อมา ‘วอยซ์’ จึงได้ติดต่อสอบถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละฝ่ายต่อทิศทางของเรื่องดังกล่าว

สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยอมรับว่า ไม่เคยพบกรณีเช่นนี้มาก่อนในรัชสมัยนี้ และวิป 3 ฝ่ายจะต้องประชุมกันภายในเพื่อหารือเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีวาระพิจารณากฎหมายที่เร่งด่วนกว่า คือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ตามด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องพิจารณาก่อน

ต่อมาก็ได้เป็นที่ทราบทั่วไปว่าด้วยเหตุสภาล่มต่อเนื่อง ทำให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พิจารณาในวาระที่ 2 ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ถูกยกกลับมาอีกครั้ง ทำให้การพิจารณาเครื่องราชฯ ล่าช้าไปหลายเดือน

นอกจากนี้ แหล่งข่าวในพรรคร่วมรัฐบาล ได้อธิบายขั้นตอนว่า หลังพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้ง หรือวีโต้ รัฐสภาจะต้องตัดสินใจว่าจะยืนยันตามเดิมโดยไม่แก้ไข และส่งกลับไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือราว 500 เสียง หากเสียงในรัฐสภาไม่ถึงก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทันที

เมื่อถามถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ของการวีโต แหล่งข่าวคนดังกล่าว มองว่า ด้วยร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรง อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่ทรงไม่เห็นด้วย และทรงมีพระราชประสงค์ให้รัฐสภาทบทวนใหม่อีกครั้งหรือไม่


ส.ส.ก้าวไกลขอทราบเหตุผล

‘วอยซ์’ สัมภาษณ์ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ถึงกรณีดังกล่าว โดยรังสิมันต์ เผยว่า ทางร้ฐบาลไม่ได้แจ้งเหตุผลใดๆ ของการวีโตร่างกฎหมายครั้งนี้ให้ทราบเลย ตนมองว่าควรเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีโดยตรงในการชี้แจงเหตุผลว่าการใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายเป็นเพราะเหตุใด ก่อนจะมีการลงมติ

“ในต่างประเทศ บางครั้งการวีโต้ก็มาจากรัฐบาลเป็นผู้ขอ ซึ่งรายละเอียดเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาล ในฐานะที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเป็นสาเหตุอะไร นายกฯ ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ตามระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ คงให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบชี้แจง ซึ่งก็ต้องไปฟังเหตุผล” รังสิมันต์ กล่าว


สภาฯ เสียงเอกฉันท์ปล่อยตก

การคาดการณ์ของ รังสิมันต์ นั้นถูกต้อง เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ได้หยิบยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ขึ้นพิจารณาในช่วงเช้า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สำหรับสาเหตุของการวีโต้ ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลให้รัฐบาลทราบ แต่เท่าที่มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เข้าใจว่า แม้จะไม่มีการตราร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ซึ่งยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10 การพระราชทานเครื่องราชฯ ก็เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะไปตัดสิทธิในการขอรับตราสืบสกุล เพราะว่าอยู่ที่ว่าจะมีพระมหากรุณาพระราชทานหรือไม่

โดยสมาชิกรัฐสภา มีผู้ลุกขึ้นอภิปรายทั้งหมด 2 คน

รังสิมันต์ โรม ประชุมรัฐสภา -B74A-DD3B0EDDA73F.jpeg

รายแรกคือ รังสิมันต์ โรม ซึ่งยังเห็นว่าเหตุผลของการวีโตยังไม่ชัดเจน พร้อมย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อยู่ในฐานะที่สามารถถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการใช้พระราชอำนาจได้ ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ วิษณุ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลชี้แจง เป็นเพียงการคาดเดา แปลว่ารัฐบาลก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการวีโต้ รังสิมันต์ ย้ำว่า พรรคก้าวไกลไม่มีปัญหาต่อสาระของร่าง พ.ร.บ. เพียงแต่อยากได้ยินสาเหตุจริงๆ ไม่ใช่การคาดเดา

“ในการทำหน้าที่ของพวกเรา ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชนในการใช้จ่ายเพื่อผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ มันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ส.ส.แต่ละท่านที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าต่างๆ มีราคา และเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่สภาเราต้องการรับทราบคือ เพราะเหตุใดกฎหมายที่ ครม.เป็นผู้เสนอ จึงไม่สามารถผ่านในส่วนของการลงพระปรมาภิไธยได้ คาดเดาอย่างเดียวไม่เพียงพอ”

รังสิมันต์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เจตนารมณ์ที่ตนอภิปรายเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่ากฎหมายที่ถูกวีโต้ ผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิจะรู้ข้อเท็จจริงเพียงพอ และการชี้แจงของรัฐบาลไม่ได้เป็นเป็นการปกป้องพระมหากษัตริย์ เพราะได้แต่คาดเดาโดยไม่ชี้แจงเหตุผล เราจำเป็นต้องใช้สภาให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ถ้ากฎหมายที่รัฐบาลมองว่า จะมีหรือไม่มี มีค่าเท่ากัน ถือเป็นการตัดโอกาสกฎหมายฉบับอื่น

ต่อมา สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายเพื่อขยายความให้ วิษณุ โดยระบุว่า ตามมาตรา 146 เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานร่างกฎหมายคืนแก่รัฐสภา รัฐสภาจะต้องปรึกษาใหม่ว่าจะยืนยันตามเดิมหรือไม่ ซึ่งวุฒิสภาบอกได้เลยว่าไม่ยืนยัน เพราะ วิษณุ อธิบายได้ชัดเจนแล้วว่า การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ใช้สิทธิวีโต้ รัฐสภาก็ควรเคารพและดำเนินตามประเพณี ไม่ควรอภิปรายยืดเยื้อ หรือพยายามพาดพิงให้เข้าใจผิด เพราะพวกตนไม่สบายใจ

“สภาเองทำกฎหมายไม่เสร็จก็เยอะ ร่าง พ.ร.ป. ก็ใช้เวลานานมาก งบประมาณเยอะมาก ประชุมร่วมรัฐสภาหลายรอบ กรรมาธิการก็งบเยอะมาก ในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ เกินเวลา มีกฎหมายเยอะที่ไม่ผ่านสภา ไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เราก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น” สมชาย กล่าว

มติ เครื่องราช.jpg

จากนั้น ที่ประชุมจึงได้เร่งรัดสู่การลงมติ ว่าที่ประชุมจะยืนยันร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ นี้ ตามเดิมหรือไม่ โดยมติเสียงข้างมากไม่ยืนยัน 431 เสียง ยืนยัน 1 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และเมื่อคะแนนเสียงยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ เป็นอันตกไป แม้รัฐสภาจะเคยให้ความเห็นชอบมาแล้ว

หลังจากนั้น พิทักษ์ ไชยเจริญ ส.ว. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตนเป็น 1 เสียงที่ลงคะแนนเห็นด้วย ซึ่งความจริงแล้วตนไม่เห็นด้วย แต่กดผิด

ผู้สื่อข่าวสำรวจรายชื่อสมาชิกฯ ที่งดออกเสียง พบว่านอกจาก ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่งดออกเสียงขณะทำหน้าที่ประธานการประชุมตามมารยาทแล้ว

อีก 27 คน คือ ส.ส.พรรคก้าวไกล ทุกคนที่เข้ารวมประชุมขณะนั้น เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค, รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. เป็นต้น ยกเว้น 'งูเห่า' 2 คนในพรรค คือ เกษมสันต์ มีทิพย์ และ คารม พลพรกลาง ที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วย


ผิดหวังผู้แทนฯ ไม่รักษาหลักการ

ด้านอานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังรัฐสภามีมติไม่ยืนยันร่างกฎหมายนี้ ระบุส่วนหนึ่งว่า

"แม้จะเป็นกฎหมายไม่สำคัญ แต่นี่ได้ทำลายหลักการและกำลังร่วมสร้างบรรทัดฐานเรื่องอำนาจกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ พวกท่านไม่ช่วยกันยืนยันหลักการและรักษาศักดิ์ศรีของเสียงประชาชน น่าผิดหวังที่พรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลที่ประกาศอย่างหนักแน่นเรื่องหลักการนี้พอถึงเวลาก็ถอยเสียเอง อีกมุมหนึ่ง คนเล็กคนน้อยที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยก็ถูก 112 เล่นงานอย่างหนัก โดยพวกเขาแทบจะไม่ได้อะไรในสมการแห่งอำนาจนี้เลย กราบเคารพประชาชนด้วยความจริงใจ ที่พวกทุกคนกล้ากว่าผู้แทนของพวกคุณเสียอีก"

ทั้งนี้ ไอลอว์ระบุว่า อำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย (Veto) เป็นหนึ่งในอำนาจของประมุขของรัฐที่จะ "หน่วงเวลา" หรือไม่ประกาศใช้ร่างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาเห็นชอบมาแล้ว เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนร่างกฎหมายนั้นอีกครั้ง กระบวนการตรากฎหมายจะได้รอบคอบและคำนึงถึงอำนาจจากฝ่ายต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งอำนาจนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ในระบบกฎหมายของไทย หรือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น แต่ประเทศที่ใช้ระบบสาธารณรัฐบางประเทศก็กำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายได้ เช่น บราซิล อิตาลี โปรตุเกส เกาหลีใต้

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนถึงพระราชอำนาจในการ Veto เอาไว้ในมาตรา 146 ดังนี้

"มาตรา 146 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

 

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog