ไม่พบผลการค้นหา
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการที่จับตลาดแดนมังกรอาจเริ่มได้รับบาดเจ็บจากยอดนักท่องเที่ยวที่ลดลง สวนทางกับธุรกิจที่เปิดรับสกุลรูปีจากอินเดียที่ยังยิ้มได้กับช่วงขาขึ้นของตลาด

ในช่วง 6 เดือนแรกที่การท่องเที่ยวโดยรวมเซื่องซึมด้วยยอดจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเพียงร้อยละ 1.48 และรายได้ขยายตัวแค่ร้อยละ 0.94 แต่ตลาดอินเดียนับเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุด ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.1 สู่ 9.78 แสนคน และส่งให้ยอดรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.54 หรือโกยเฉียด 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารายได้ยังทิ้งห่างพี่ใหญ่อย่างจีนที่กำลังตกอยู่ในความสั่นไหวอยู่ราว 8 เท่าตัว (ในช่วง 6 เดือนแรกไทยโกยจากจีนแล้วกว่า 3.1 แสนล้านบาท)

แต่ในนาทีนี้ไม่มีใครอยากปฏิเสธตลาดที่มีกำลังซื้อน่าจับตามอง ที่อาจจะมาประคองความผันผวนได้ในระยะกลางและยาว

แต่ทำไมอินเดียจึงเติบโตในช่วงนี้ ปัจจัยอะไรที่ทำให้ตลาดเติบโตสดใส? สำหรับปัจจัยภายนอก เครื่องค้ำยันอันดับหนึ่งคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของอินเดีย หลังจากผ่านการเลือกตั้งทั่วไป นายนเรนทรา โมดี ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นสมัยที่สองต่ออีก 5 ปี ความต่อเนื่องด้านนโยบายเศรษฐกิจส่งผลด้านความเชื่อมั่นโดยรวมจากทั้งในประเทศและทุนต่างประเทศ เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้ต้องรอลุ้น

ประเด็นต่อมาคือการเติบโตของสายการบินเชื่อมระหว่างไทยกับอินเดียเพิ่มเติม โดยเริ่มมีสายการบินอินเดียที่บุกเบิกเส้นทางตรงดิ่งเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวหัวเมือง นำโดย ภูเก็ต ที่รับอานิสงส์เต็มที่ หลังจากที่ปล่อยให้สายการบินฟูลเซอร์วิสและโลว์คอสต์ของไทยขยายบริการจนเต็มโควต้าไปก่อนแล้ว ครั้งนี้ทั้งโกแอร์ และอินดิโก สัญชาติอินเดียต่างปักหมุดลงใจกลางเกาะไข่มุกอันดามันแห่งนี้

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประเมินว่าเศรษฐกิจที่อินเดียที่มีแนวโน้มเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ในปีนี้ ยังคงเป็นตัวเร่งที่ดีให้ไทยรักษาระดับการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ไปจนถึงปลายปี โดยมีโอกาสทำได้ถึง 2 ล้านคนตามที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ เนื่องจากยังมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa-on-arrival (VoA) ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบังคับใช้ไปจนถึงโค้งสุดท้ายชนไฮซีซัน และหากไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เส้นกราฟน่าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างต่ำ

วีซ่า-สนามบิน-สุวรรณภูมิ-ท่องเที่ยว

'ฟรีวีซ่า' อาจสวนทางนโยบายตลาดท่องเที่ยวคุณภาพ

ตลาดอินเดีย กลับมาอยู่ในศูนย์กลางความสนใจอีกครั้ง เมื่อมีรายชื่อประกบคู่กับจีน ในโผประเทศที่จะได้รับการสนับสนุนกระตุ้นตลาดเป็นพิเศษด้วยการยกเว้นวีซ่าเดินทางมาไทยเป็นเวลา 1 ปี โดยครม.เศรษฐกิจเห็นชอบไปแล้วในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. แต่การประชุม ครม. ชุดใหญ่ ในวันที่ 20 ส.ค. ตีตก ไม่มีการอนุมัติฟรีวีซ่า แต่ให้ยกวเ้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่าน (VOA - Visa On Arrival) และ การขอตรวจลงตรา (วีซ่า) เพื่อเข้าประเทศ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองอัตราจำนวนเงิน 2,000 บาท ออกไปอีก 6 เดือน จากสิ้นเดือน ต.ค. นี้ ไปถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2563 รวมกับอีก 17 ประเทศที่ยกเว้นให้ 

นโยบาย 'ยกเว้นวีซ่า 1 ปีให้นักท่องเที่ยวอินเดีย' มีเสียงคัดค้านภายในรัฐบาลแรงมาก นำโดยกระทรวงที่รับหน้าเสื่อโดยตรงอย่างกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องสูญเสียรายได้โดยตรงจากการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งหากพิจารณาจากท่าท��ทุกครั้งที่มีนโยบายเกี่ยวกับวีซ่าออกมา บทบาทที่ต้องออกมาจาระไนถึงผลได้ผลเสีย ก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยู่แล้วเพราะถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรง แต่เนื้อหาที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงอย่าง นายดอน ปรมัตถ์วินัย ออกโรงแจงด้วยตัวเองยาวเหยียดครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าคิดคล้อยตามอยู่หลายเรื่อง

โดยเฉพาะนโยบายที่ดูเหมือนจะดึงดูดปริมาณนักท่องเที่ยวด้วยฟรีวีซ่า ที่ฟังย้อนแย้งกับกลยุทธ์การทำตลาดคุณภาพที่การท่องเที่ยวไทยกลับหัวเรือไปทางนั้นมาหลายปี และยังมีเรื่องศักยภาพในการรองรับ ที่เคยมีปัญหาปะทุเรื่องความแออัด และวัฒนธรรมนักท่องเที่ยวที่ทะลักเข้ามาแล้วไม่สอดประสานกับท้องถิ่น ทำให้เกิดการต่อต้านจนเป็นปัญหาเปราะบางด้านความสัมพันธ์มาแล้ว

แน่นอนว่า ตลาดอินเดีย มีปัญหาใหญ่เรื่องความสะดวกในการทำวีซ่าไม่แพ้จีน ด้วยประเทศที่มีขนาดใหญ่และประชากรฐานกว้าง ปีที่แล้วมีการเดินทางมาไทยเกือบ 1.6 ล้านคน แต่จำนวนสถานฑูตและสถานกงสุลยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง ดังนั้นการ “อำนวยความสะดวกในการทำวีซ่า” น่าจะเป็นประเด็นสำคัญเฉพาะหน้า และมองว่าการยกเว้นค่าธรรมเนียมหน้าด่านเมื่อมาถึง หรือ VoA ที่มีอยู่แล้ว ก็น่าจะเพียงพอ เพราะนักท่องเที่ยวไม่ต้องลำบากวิ่งไปหาสถานกงสุลในประเทศ และยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย

สิงคโปร์_ตรวจคนเข้าเมือง.jpg
'ฟรีวีซ่า' อาจไม่ใช่คำตอบ หลายประเทศเน้นสะดวกด้วยดิจิทัล

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจบอกว่ายาชุดดังกล่าวไม่แรงพอ เมื่อเทียบกับปัจจัยลบรอบด้าน และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตลดลงอาจทำให้ขวัญผวา แต่หากหันมองประเทศเพื่อนบ้านที่รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยว ก็จะพบว่าต่างเผชิญความท้าทายไม่ต่างกัน อาทิ การท่องเที่ยวสิงคโปร์ ที่ประกาศว่าไตรมาสแรก นักท่องเที่ยวเติบโตเพียงร้อยละ 1 เป็น 4.7 ล้านคน แต่ยอดการใช้จ่ายลดลงถึงร้อยละ 4.8 คิดเป็น 6,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.44 แสนล้านบาท) โดยตลาดอินเดีย ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของสิงคโปร์ เฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ทำรายได้เป็นอันดับ 3 รองจาก จีน และอินโดนีเซีย

ทว่าประเด็นยกเว้นวีซ่ายังไม่ใช่ไม้ตายที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอเชียหวังพึ่งพิง สิ่งที่สิงคโปร์ดำเนินการมาตลอดคือ พัฒนาการให้บริการวีซ่าให้สะดวกผ่านระบบ E-Visa เพื่อทำลายข้อจำกัดด้านการเข้าถึง ขณะที่มาเลเซียเองยกเครื่องระบบ E-Visa เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวอินเดียมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในโอกาสที่เตรียมเปิดตัวปี Visit Malaysia 2020 ในปีหน้า ภาคเอกชนในประเทศเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาลดค่าธรรมเนียม VoA ตามอย่างไทย และมีเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นเสนอว่าควรเปิดฟรีวีซ่าไปเลย แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ยังไม่ตอบรับสัญญาณดังกล่าวแต่อย่างใด

ความพยายามอำนวยความสะดวก ยังสอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทนำเที่ยวแบรนด์ดังอย่าง Thomas Cook สาขาอินเดียที่ระบุเทรนด์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ว่า เมื่อผู้บริโภคมองหาจุดหมายต่างประเทศ ประเทศที่อำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่ามากที่สุด (ทั้ง E-Visa และ VoA) มักจะได้ใจไปครอง ส่วนการลดแลกแจกแถมนั้น ตัวค่าธรรมเนียมวีซ่าไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ แต่นักท่องเที่ยวจะไปคาดหวังที่โปรโมชั่นของสายการบินเสียมากกว่า

ในปี 2561 ช่วงครึ่งปีแรกที่มาตรการฟรีค่าธรรมเนียม VoA ยังไม่คลอด การเติบโตของตลาดอินเดียก็มั่นคงมาโดยตลอดในระดับแตะระดับร้อยละ 10 ซึ่งแม้จะได้รับลูกหลงจากผลกระทบช่วงสองไตรมาสท้าย ก็ยังขยายตัวในระดับร้อยละ 7-13 ก่อนได้รับมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมหนุนหลังในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

ไม่ว่าเสียงคัดค้านกันเองภายในรัฐบาลครั้งนี้ จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังมาจากการประลองกำลังกันเองของพรรคร่วมรัฐบาลต่างสีหรือไม่ (กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาภายใต้พรรคภูมิใจไทยเป็นผู้นำเสนอเรื่องฟรีวีซ่าเข้าครม.) แต่หากยกเอาความขัดแย้งออกไป แล้วพิจารณาแต่เนื้อหาความเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคุ้มค่าที่ไทยจะได้รับจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา แลกกับสิ่งที่ต้องเสียไปในระยะยาวเรื่องทรัพยากรต่างๆ ขณะที่ปัญหาหลักอย่างค่าเงินบาทยังไม่ได้รับการแก้ไขการยกเว้นค่าวีซ่า อาจยังไม่ได้เป็นมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เพียงพอก็ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :