ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป เผย ปี 2562 ธุรกิจค้าปลีกเติบโตลดลง เหตุกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว ขอรัฐดูแลค่าเงินบาท-ออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายปลายปี

น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์กำลังซื้อในประเทศยังคงทรงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจรีเทล พบว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คิดเป็นสัดส่วนลูกค้าประมาณร้อยละ 25 ทั้งจีน ญี่ปุ่น และกลุ่ม CLMV ยังคงชะลอการใช้จ่าย ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อบิลลดลงประมาณร้อยละ 5-8 นับเป็นครั้งที่การใจ้จ่ายต่อบิลลดลง ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยที่คิดเป็นสัดส่วนลูกค้าประมาณร้อยละ 75 ก็ชะลอการใช้จ่ายเช่นกัน โดยบางส่วยยังกำวลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงรอดูมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี เช่น ช้อปช่วยชาติลดหย่อนภาษี

“ยอมรับว่าปี 2562 เป็นปีที่ค่อนข้างเหนื่อย เมื่อเทียบกับปีที่ 2561 โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการใช้จ่ายที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด” นางสาววรลักษณ์ กล่าว

เดอะมอลล์ แถลงภาพรวมตลาด
  • วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

น.ส.วรลักษณ์ คาดการณ์ว่า ปี 2562 เดอะมอลล์ กรุ๊ป แม้จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 แต่เป็นอัตราเติบโตที่ลดลงจากปี 2561 ที่ร้อยละ 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าในปี 2563 สถานการณ์กำลังซื้อน่าจะปรับตัวดีขึ้น ภายใต้การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นไปมากกว่านี้ และการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงต้นปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปี 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2563 ค้าปลีกโตลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์และมุมมองต่อยอดขายของผู้ประกอบการค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 300 ราย พบว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการค้าปลีกกว่าร้อยละ 60 ของผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด มียอดขายที่แย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง น้ำหอม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกกว่าร้อยละ 65 ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงใด

ซูเปอร์มาร์เก็ต-สินค้า-การจับจ่าย-ค้าปลีก-จับจ่าย

ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขายแย่ลง มาจากกำลังซื้อของลูกค้ายังไม่ฟื้นตัว ทำให้ลูกค้าใช้จ่ายหรือซื้อสินค้าลดลง อีกทั้งด้วยสภาพของตลาดค้าปลีกในปัจจุบันที่มีจำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้น จึงทำให้การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเป็นช่องทางค้าปลีกที่เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมหรือวิถีในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Disruption) ให้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ส่งผลให้ค้าปลีกที่ใช้ช่องทางหน้าร้าน หรือ Offline เป็นหลัก เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป

WT_ค้าปลีก.jpg

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 แม้จะมีอัตราการเติบโต หรืออยู่ที่ร้อยละ 2.3 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าธุรกิจค้าปลีกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.1 โดยกลุ่มรีเทลเติบโตต่ำสุดที่ร้อยละ 2.7 – 3 ขณะที่กลุ่มโมเดิร์นเทรดเติบโตที่ร้อยละ 2.8 – 3