วันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข และภาคประชาชน ยื่นหนังสือต่อ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องขอให้ตรวจสอบศาลอาญากรุงเทพฯใต้ กรณีไม่ให้ประกันตัว บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อการประกันตัว
โดย อัครวินท์ สมบูรณ์ กล่าวว่า การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการที่ว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวแก่นักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข
ส่วน อาทิตยา พรพรหม ระบุว่า การอดอาหารประท้วงของทั้ง 2 คน ทำให้สภาวะสุขภาพอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ทางราชทัณฑ์กลับไม่ให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และยังได้กล่าวถึง กรณีนักโทษกลุ่มทะลุแก๊ส 2 คน ที่พยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ โดยเฉพาะ พลพล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิงรถตำรวจ ทั้งที่ความจริงมีหลักฐานปรากฎว่า พลพล ไม่ได้อยู่บริเวณนั้นเลยในขณะที่รถตำรวจถูกเพลิงไหม้
ขณะที่ เจษฎา ศรีปลั่ง เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจอนุมัติประกันตัวอย่างเลือกปฏิบัติ เห็นได้จากกรณีศาลให้ประกันตัว สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า รวมถึง กรณี ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจาร ซึ่งยังได้รับการประกันตัว
ด้าน สมยศ เน้นย้ำว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นสถานที่ซึ่งฆ่าผู้ต้องขังมาแล้วหลายคน ดังเช่น อำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ผู้ต้องหาคดี 112 จากการส่ง SMS สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง และ พล.ท.มนัส คงแป้น ที่ล้วนเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลปิด บริหารงานไม่โปร่งใส ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จะได้เข้ามายังจุดยื่นหนังสืออาคารรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจสภาได้สั่งห้ามไม่ให้นำป้ายที่มีข้อความว่า “ยกเลิก 112” เข้ามาในพื้นที่ เป็นเหตุให้ ณัฐชา เข้าสอบถามข้อเท็จจริงกับตำรวจรายนั้น ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งห้าม ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นและใช้หลักเกณฑ์ใด ในการพิจารณาว่าป้ายประเภทใดเข้ามาในพื้นที่สภาไม่ได้