ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' ยกศาลอาญายกฟ้องคดีศาลทหารฟ้อง ม.116 ปิดปากช่วงรัฐประหาร เตรียมร้อง อสส.ถอนฟ้องคดีมั่นคงจากศาลทหาร พร้อมร้องรัฐสภารื้อกฎหมายคดีมั่นคง จี้ รบ.หยุดใช้คดี ม.116 เอาผิดประชาชน

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าถึงศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่กล่าวหาตนเองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) หลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นคดีที่โอนมาจากศาลทหารกรุงเทพและมีการพิจารณาคดีต่อที่ศาลยุติธรรม โดยระบุว่า คำพิพากษาชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดีกระทำไปในลักษณะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากผู้มีความเห็นต่างและเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล ตนใช้เวลาต่อสู้คดีนี้ยาวนาน 6 ปี 6 เดือน 26 วัน

จาตุรนต์ ระบุว่า จากการที่ตนถูกดำเนินคดีมาตลอด 6 ปี 6 เดือน 26 วัน ทำให้มีประสบการณ์โดยตรงและชัดเจนว่าคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ความผิดตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นี้ถูกใช้เป็นเครื่องในการกลั่นแกล้ง สร้างความลำบากเดือดร้อนเพื่อบีบคั้นกดดันผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมือง ซึ่งนอกจากเกิดขึ้นกับตนแล้ว ยังมีอีกนับร้อยๆ คดีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

จาตุรนต์2.jpg

ร้อง อสส.ถอนฟ้องคดีแกล้งปิดปากประชาชน

จาตุรนต์ย้ำว่าตั้งใจจะให้คดีนี้เป็นตัวอย่าง ในการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งปิดปากประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ โดย 1.จะดำเนินการเรียกร้องไปยังอัยการสูงสุดใน 2 ประเด็น คือ 1.1 ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้องคดีนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและขัดหลักนิติธรรม

คดีนี้ไม่ควรมาถึงศาลยุติธรรมตั้งแต่แรก ตั้งแต่เริ่มต้นคดีโดยกองทัพที่อยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร การตั้งข้อหา การสอบสวนและการฟ้องคดีมีความไม่ชอบมาพากลตลอดกระบวนการ มีการตั้งข้อหาเกินความเป็นจริงเพื่อจะเอาคดีไปสู่ศาลทหารซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสนอสั่งฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอและอัยการทหารสั่งฟ้องทั้งๆ ที่เห็นบันทึกการสอบปากคำพยานเกือบทุกคนที่ให้การว่าไม่เห็นว่าข้อความที่มีการแถลงข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนที่เป็นคุณต่อจำเลยไม่ถูกนำเข้าไว้ในสำนวน

อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีที่ล่าช้าผิดปกติ คือ คดีอยู่ที่ศาลทหารกว่า 5 ปี สืบพยานไปได้เพียง 2 ปากเท่านั้น แต่เมื่อมีการโอนคดีมาที่ศาลอาญา ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สืบพยานทุกปากเสร็จสิ้นลงได้ นอกจากนี้ในการสืบพยานทั้งหมดทั้งในศาลทหารและศาลอาญาปรากฏว่านอกจากทหาร 2 นายที่ทำตามคำสั่งของ คสช.ให้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว พยานโจทก์ปากอื่นๆ ไม่มีใครให้การว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

จาตุรนต์ ระบุว่า เข้าใจว่าพนักงานอัยการผู้ทำคดีนี้ย่อมมีอิสระที่จะพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์คดี และตนจะไม่ก้าวล่วงการตัดสินใจของพนักงานอัยการเจ้าของคดี แต่เนื่องจากการดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ขั้นของการตั้งข้อหา การสอบสวน การสั่งฟ้องและการฟ้อง มีลักษณะเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก กลั่นแกล้ง สร้างความลำบากเดือดร้อนแก่ผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกดำเนินคดี เมื่อตนได้รับบันทึกคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์แล้ว ตนและคณะทนายจะไปยื่นเรื่องร้องต่ออัยการสูงสุดในทันที

แนะกำหนดหลักเกณฑ์คดีโอนจากศาลทหาร ต้องดูก่อนเป็นธรรมหรือไม่

1.2 ขอให้อัยการสูงสุดวางหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินคดีที่รับโอนมาจากศาลทหารเสียใหม่ เมื่อมีการโอนคดีจากศาลทหารมายังศาลอาญา ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรจะใช้ดุลยพินิจตรวจสอบสำนวนและความเป็นมาของคดีเสียใหม่ ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ในศาลยุติธรรมปรากฏชัดเจนว่าคดีนี้ไม่ควรตั้งข้อหาและสั่งฟ้องมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่อมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้เช่นนี้แล้ว ตนก็จะทำเรื่องร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินคดีที่โอนมาจากศาลทหารให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการพิจารณาสำนวนเสียก่อนว่าการดำเนินคดีก่อนหน้านั้นถูกต้องและเป็นธรรมต่อจำเลยหรือไม่

ร้องรัฐสภารื้อกฎหมายคดีมั่นคง จี้ รบ.หยุดใช้คดี ม.116 เอาผิดประชาชน

จาตุรนต์ ระบุว่า 2. เดินหน้าเพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานความยุติธรรมตามกฎหมาย คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน คำพิพากษาที่ออกมาได้สะท้อนถึงระบบยุติธรรมที่บกพร่องอย่างสำคัญ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย การใช้กฎหมาย ไปจนถึงการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

"ผมจะดำเนินการเรียกร้องไปยังองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติขอให้แก้ไขกฎหมายระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงไม่ให้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อตามอำเภอใจอย่างที่เป็นอยู่ และขอเรียกร้องให้ รัฐบาล องค์กรและเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจเกี่ยวกับการดำเนินคดีทั้งหลาย ขอให้ยุติการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ขอให้ใช้อำนาจและดุลยพินิจอย่างถูกต้องและยุติธรรม ไม่ขัดต่อข้อเท็จจริงและกฎหมาย เพื่อให้หยุดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งปิดปากประชาชนอย่างที่เกิดขึ้น" จาตุรนต์ ระบุ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง