กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันที่ 12 ม.ค. 2562 จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่อากาศในช่วงเช้า อากาศลอยตัวไม่ดี อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามความสูงในระดับล่าง สภาพอากาศปิดมีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้า ส่งผลให้ค่า PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ"
พื้นที่ริมถนน โดยสถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 21 พื้นที่ สำหรับพื้นที่ทั่วไป (ห่างจากริมถนนสายหลัก) โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 17 พื้นที่ โดยมี 4 พื้นที่ ขึ้นสัญญาณเตือนสีแดง ได้แก่ เขตวังทองหลาง บริเวณริมถนนลาดพร้าว ซลาดพร้าว 95, เขตบางคอแหลม บริเวณริมถนนพระราม 3- เจริญกรุง, เขตจตุจักร บริเวณริมถนนพหลโยธิน, และเขตบางเขน บริเวณริมถนนพหลโยธิน
ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ขอความร่วมมืองดใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ และระวังสุขภาพ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองด้วย
กรีนพีซ รณรงค์ขออากาศดีคืนให้คนกรุง
ด้านกรีนพีซ ประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า วันเด็กปีนี้ รัฐบาลอยากมอบของขวัญอะไรให้เด็กๆ (นอกจากคำขวัญ) ค่า PM2.5 เช้านี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ คุณภาพอากาศยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งวันนี้ยังมีกิจกรรมวันเด็ก ที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ฝัน คิดถึงอนาคตที่ตัวเองอยากเป็น แล้วเด็กจะมีอนาคตได้อย่างไรถ้าต้องเสี่ยงกับฝุ่นพิษทุกวัน
ซึ่งกรีนพีซ ประเทศไทย ยกรายงานของ WHO เรื่องมลพิษทางอากาศและสุขภาพเด็ก บอกไว้ว่าร้อยละ 93 ของเด็กทั่วโลกอาศัยอยู่ในเมืองที่มีเกณฑ์มาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 สูงกว่าที่ WHO แนะนำ (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง PM2.5 ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 มก./ลบ.ม ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของที่กำหนดไว้คือ 25) และข้อมูลจากปี 2559 ระบุว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เด็กต่ำกว่า 5 ปี ทั่วโลก 543,000 คนต้องเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
การที่เด็กต้องอยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่ภูมิคุ้มกันต่างๆ ยังไม่เทียบเท่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นอนาคตของประเทศอย่างไร เมื่อมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นทุกปี ถ้าไม่แก้ปัญหายังคงบอกค่าต่ำกว่ามาตรฐาน บอกให้ประชาชนไม่ต้องกังวลใช้ชีวิตได้ตามปกติได้อย่างไรถ้าอากาศที่ต้องหายใจเข้าไปทุกวินาทีมีแต่มลพิษ
ในตอนท้ายกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดแคมเปญรณรงค์ขออากาศดีคืน โดยสามารถเข้าไปร่วมลงชื่อได้ในเว็บไซต์ Right to Clean Air