10 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศบรูไน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ พระราชวังอิสตานา นุรุล อิมาน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเข้าเฝ้าฯ และหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าเฝ้าฯ และมาเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการในวันนี้ ไทยและบรูไนมีมิตรภาพที่ยาวนานกว่า 39 ปี บรูไนเป็นพันธมิตรของไทย ทั้งในความร่วมมือทวิภาคี ในเวทีระดับภูมิภาค และพหุภาคี ทั้งนี้ หากพระองค์มีพระราชประสงค์เสด็จฯ เยือนประเทศไทย จะถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยที่ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับ
ด้านสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี การเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันของไทยและบรูไน โดยเฉพาะที่ในปีหน้าจะครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์การทูต
โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
ไทยและบรูไนยินดีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองเต็มไปด้วยมิตรภาพ และไมตรีจิตมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับราชวงศ์ ที่เป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-บรูไน โดยปีหน้าจะครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์การทูต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้ใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ และร่วมมือระหว่างกัน
ในด้านเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ ทราบว่าในปี พ.ศ. 2545 Brunei Investment Agency (BIA) ได้ร่วมมือกับ EXIM Thailand และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งกองทุนทวีทุน (Thailand Prosperity Fund) ซึ่งมีทุนเริ่มแรก 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมเชิญชวนให้ BIA พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในไทย โดยเฉพาะในสาขาที่มีศักยภาพสูง เช่น การบริการ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่สินค้าไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในบรูไน โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ มีแผนที่จะการจัดแสดงสินค้าไทยในบรูไนมากขึ้น จึงหวังที่จะทำงานร่วมกับบรูไน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไทยและอาหารไปยังบรูไนมากขึ้น
ผู้นำทั้งสองให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหาร โดยไทยต้องการที่จะเป็นหุ้นส่วนระยะยาวของบรูไนในด้านนี้ เนื่องจากไทยมีความเข้มแข็งในด้านการเกษตร และการผลิตอาหาร และต้องการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยเฉพาะเนื้อไก่ และข้าวหอมมะลิไทย ไปยังบรูไน โดยทั้งสองประเทศยังพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือในด้านพลังงาน
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องว่า อาเซียนที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาเซียนเป็นเสาหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล และพร้อมจะสานต่อการทำงานร่วมกับบรูไน เพื่อเสริมสร้างอาเซียน พร้อมหวังจะได้เห็นการบรูณาการทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความห่วงกังวลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นขณะนี้ พร้อมขอให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ โดยรัฐบาลไทยจะติดตามการหารือของเราเพื่อประโยชน์ของประชาชนของเรา พร้อมย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดเดินหน้าความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลสูงสุด