สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับ The Crocodile Who Dies in 100 Days ก็ขอเท้าความให้ฟังว่ามันคือมังงะ 4 ช่องจบของนักเขียนชื่อ ยูกิ คิคุจิ (Yuuki Kikuchi) เป็นเรื่องราวกิจวัตรสามัญธรรมดาของจระเข้ตัวหนึ่งที่ไปกินราเม็ง นอนดูโทรทัศน์ ออกเที่ยวกับเพื่อนฝูง แอบชอบเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ตอนแรกของการ์ตูนมีเขียนกำกับไว้ว่า “จระเข้จะตายในอีก 100 วัน” และพอตอนที่ 2 และ 3 ตัวเลขก็เปลี่ยนเป็น 99 และ 98 นั่นหมายความว่ายิ่งเรื่องดำเนินไป วันตายของเจ้าจระเข้ก็ยิ่งใกล้เข้ามา
คิคุจิโพสต์การ์ตูนเรื่องนี้ทางทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2019 และเรื่องก็ดำเนินมาถึงตอนที่จระเข้ตายในวันที่ 22 มีนาคม 2020 สาเหตุที่มังงะโด่งดังคงเป็นเพราะมันเล่นกับ ‘ความรู้สึก’ ของคนดู เราได้สวมใส่สายตาของพระเจ้าผู้รู้ชะตากรรมอยู่แล้วว่าตัวเอกจะต้องตาย หากแต่จระเข้ก็ใช้ชีวิตของมันไปเรื่อยโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร ถึงกระนั้นคนอ่านยังแอบลุ้นขอให้จระเข้ไม่ตาย (บางคนอาจเป็นลุ้นว่าจระเข้จะตายอย่างไร)
จุดเด่นอีกอย่างของ The Crocodile Who Dies in 100 Days คือการเล่นกับเรื่อง ‘เวลา’ อย่างชาญฉลาด นอกจากการนับถอยหลังสู่วันตายแล้ว หลายตอนของมังงะยังพูดเรื่องเวลาอยู่เสมอ เช่น การต้มบะหมี่สามนาที การรอเพื่อนที่นัดหมายไว้ หรือความอยากดูซีรีส์ตอนต่อไปไวๆ แถมยังแทรกเรื่องเวลาในเชิงการใช้ชีวิต อย่างที่เห็นว่าเพื่อนๆ ของจระเข้เริ่ม ‘มูฟ’ ไปสู่เฟสใหม่ของชีวิต ไม่ว่าจะด้านการงานหรือความสัมพันธ์ ส่วนฝั่งพระเอกดูเหมือนจะใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ที่เดิม หากแต่เขาก็มีความสุขและเพื่อนๆ ก็ไม่ได้ดูแคลนหรือทอดทิ้ง
ยังมีคนอ่านตั้งข้อสังเกตน่าสนใจอีกมากมาย เช่นว่าทำไมผู้เขียนจงใจให้พระเอกช่วยชีวิตลูกเจี๊ยบซ้ำสองครั้งในตอนที่ 3 และตอน 100 สรุปแล้วตอนจบจระเข้ตายจริงหรือไม่ ตายเพราะอะไร หน้าจอมือถือในช่วงสุดท้ายเป็นของใคร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ใจความใหญ่ที่อิมแพ็คผู้อ่านคงเป็นความรู้สึกประเภท “ชีวิตเราก็เท่านี้” ชีวิตที่ใช้ไปรายวัน แล้วอยู่ๆ ก็จบลงโดยไม่มีใครบอกกล่าวล่วงหน้า
ในวันที่ The Crocodile Who Dies in 100 Days ดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย โลกโซเชียลเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ก็มีพลังเชิงบวกปรากฏพร้อมกัน ทำนองว่า “เรามาใช้ชีวิตของเราแต่ละวันให้มีค่ากันเถอะ” “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาล้วนมีความสำคัญ” เรื่องราวทั้งหมดกำลังจะจบอย่างสวยงาม ทว่าในวันเดียวกันก็มีประกาศออกมาว่า...
- The Crocodile Who Dies in 100 Days ฉบับหนังสือจะขายในเดือนเมษายน
- ประกาศสร้างแอนิเมชั่น
- วง Ikimono-gakari ออกซิงเกิ้ลประกอบการ์ตูนเรื่องนี้
- เปิด pop-up store
- เปิดคาเฟ่ขายอาหารธีมเจ้าจระเข้
- ประกาศไลน์อัพของที่ระลึกสารพัดชนิด
ที่จริงเป็นเรื่องน่ายินดีที่จระเข้โด่งดังจนแตกสาขาได้มากมาย ทว่ามวลอารมณ์ของผู้คนส่วนใหญ่ออกไปทางโกรธ โกรธที่หากินกับความตายของเจ้าจระเข้แบบทันทีทันใด เหมือนหลอกให้ซึ้งให้อินแต่สุดท้ายก็ขายของ หรือบ้างโวยวายว่าทำไมถึงเลือกประกาศขายนั่นขายนี่ทันที ทำไมไม่รอสักพัก ขอคนอ่านทำใจก่อน (!?) ว่าแล้วชาวเน็ตเลยแห่เข้าไปด่าผู้เขียน หรือตอนไลฟ์สด เขาก็โดนคอมเมนต์ถล่มจนร้องไห้ออกอากาศ
ประเด็นนี้ชวนให้เกิดข้อถกเถียงอย่างยิ่ง อย่างตัวผู้เขียนมองว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะเห็นทนโท่อยู่แล้วว่า The Crocodile Who Dies in 100 Days ทำมาเพื่อผลเชิงธุรกิจ (เพียงแต่มันอาจจะโด่งดังกว่าเขาคาดไว้) การที่เขาขายของตรงๆ แบบนี้ถือว่าชัดเจนดี ส่วนเรื่อง ‘ไทม์มิ่ง’ ที่เหมาะสมนี่ก็ชวนงงเหมือนกัน หรือเราต้องไว้อาลัยให้จระเข้ 100 วันก่อนถึงจะขายของได้? เวลาเท่าไรถือว่าเหมาะสมที่คนจะทำใจได้และยอมซื้อสินค้าจระเข้?
แต่ไม่ว่าคนจะก่นด่ากันสักแค่ไหน สุดท้ายแล้วสินค้าจระเข้ก็ขายดีถล่มทลาย (คนซื้อคงมีทั้งแฟนคลับและพวกเก็งกำไร) เป็นบทเรียนอีกครั้งว่าความตายเป็นสิ่งที่ขายได้ โดยเฉพาะความตายแบบโรแมนติก (ตัวอย่างคลาสสิกเช่น Romeo & Juliet, คู่กรรม, ไททานิค) หรือความตายของศิลปินอันเป็นที่รักที่ถูกแปรสภาพความอัลบั้มรวมฮิต บ็อกซ์เซ็ตอลังการราคาแพง หรือกระทั่งการยิงภาพโฮโลแกรมบนเวทีคอนเสิร์ต
เรื่องราวดราม่าครั้งนี้ เว็บไซต์ SoraNews24 สรุปไว้ได้อย่างเฉียบขาดว่า “หลังความตายแล้ว ไม่มีทั้งสวรรค์ ลิมโบ หรือนรก ...มีเพียงเแต่ระบบทุนนิยม”