ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกาพิพากษาให้กองทัพบกชดใช้เยียวยาให้ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม 2,072,400 บาท พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันทีเกิดเหตุ ขณะที่ครอบครัว 'แม่นาปอย' ดีใจที่ความยุติธรรมปรากฏ

16 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลแพ่งรัชดา ศาลฎีกาได้นัดพิพากษาคดีที่นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมชาติพันธ์ลาหู่ ยื่นฟ้องเมื่อปี 2562 ต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารด่านบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 โดยมีทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นทนายความของครอบครัว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก Protection International (PI) และกลุ่มดินสอสี ได้เดินทางเข้าฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ด้วย 

โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ และต้องชดใช้เยียวยาให้กับครอบครัวของชัยภูมิเป็นจำนวน 2,072,400 บาท 

นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิกล่าวภายหลังรับทราบคำพิพากษาของศาลว่า ตนรู้สึกดีใจกับคำตัดสินของศาลที่มีออกมาในวันนี้มาก ที่ผ่านมาชัยภูมิเป็นกำลังหลักสำคัญของครอบครัว พอน้องไม่อยู่ครอบครัวก็ทุกข์ทรมานมาก นอกเหนือจากนั้นต้องขอบคุณหลายๆ องค์กรที่เข้ามาช่วยครอบครัวเราต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย วันนี้ตนก็จะพูดกับลูกได้แล้วว่าพวกเราได้รับความยุติธรรมแล้ว

ขณะที่ยุพิน ซาจ๊ะ และไมตรี จำเริญสุขสกล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรักซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ดูแลและต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชัยภูมิตั้งแต่แรกเริ่มนั้นกล่าวว่า เราดีใจมากที่การต่อสู้ของพวกเราในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า แม้ระหว่างทางของการต่อสู้พวกเราจะพบเจอกับอุปสรรค และแรงกระแทกมากมายแต่คำพิพากษาของศาลที่มีออกมาวันนี้ทำให้การต่อสู้ของพวกเราไม่ไร้ความหมาย หลายคนบอกให้พวกเราเลิกต่อสู้ แต่เราบอกพวกเขาไปว่าแม้ระยะเวลามันจะยาวนานหรือเห็นความหวังแต่เพียงริบหรี่เราก็จะสู้ เราเคยให้สัญญาไว้กับน้องชัยภูมิว่าจะนำความยุติธรรมกลับมาให้เขาให้ได้ วันนี้พวกเราก็ทำได้ การตายของน้องชัยภูมิไม่ได้สูญเปล่าหรือหายไปกับสายลม ความบริสุทธิ์ของน้องได้รับการพิสูจน์จากชั้นศาลแล้ว ขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงานที่ช่วยกันต่อสู้จนได้รับความยุติธรรมให้กับครอบครัวของชัยภูมิด้วย 

ด้านสุธีรา เปงอิน ตัวแทนจาก Protection International (PI) ในฐานะที่เป็นองค์กรที่สนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและครอบครัวของชัยภูมิและกลุ่มด้วยใจรักที่ต้องแสวงหาความยุติธรรมมาตลอดหกปีกล่าวว่า เรายินดีที่คำพิพากษาของศาลฏีกายืนยันว่ากองทัพไทยต้องรับผิดโดยการชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวจำนวน 2,072,400 บาท จากที่ครอบครัวเรียกค่าเสียหายไป 4,037,068 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ก็เท่ากับให้จ่ายครึ่งนึงที่เรียกร้องไป ประเด็นหลักคือศาลฎีกาให้น้ำหนักกับประจักษ์พยานของโจทก์ซึ่งต่างจากศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่ให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานจากจำเลยคือกองทัพไทย ศาลฎีกาพิจารณาว่า ภาระการพิสูจน์คดีนี้ตกที่จำเลยคือกองทัพ ดังนั้นการที่จำเลยไม่นำกล้องวงจรปิดมาพิสูจน์ พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ลายพิมพ์นิ้วมือต่างๆ ไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลย จำเลยมีเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เหมือนพยานหลักฐานของโจทก์คือฝั่งครอบครัวของชัยภูมิ

ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ Protection International (PI) ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในกรณีนี้คือการสูญเสียชีวิตของคนคนหนึ่งโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ทำไมต้องรอให้มีการฟ้องเองเป็นภาระของประชาชน ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีการชดเชยเยียวยาจากฝั่งกองทัพไทยหรือรัฐบาลเลย ที่ผ่านมาเราเชื่อว่ารัฐบาลทหารปกป้องการกระทำของจำเลย เห็นได้จากการที่ไม่มีการชดเชยใดๆ หรือแม้กระทั่งการขอโทษหรือการแสดงความเห็นอกเห็นใจกับครอบครัวของชัยภูมิจากกองทัพไทยและรัฐบาลทหาร

“เราหวังว่ารัฐบาลในขณะนี้จะลงโทษผู้กระทำความผิด ชดเชยความเสียหายและเยียวยาครอบครัวของชัยภูมิที่นอกเหนือจากที่ศาลสั่งตามหลักความยุติธรรมในความรับผิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการวิสามัญฆาตกรรมประชาชน เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไปและให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม” ตัวแทนจาก Protection International (PI) ระบุ

ด้านวรพจน์ โอสถาภิรัตน์ ตัวแทนจากกลุ่มดินสอสีที่กล่าวว่า เราขอบคุณแม่นาปอย ไมตรี ยุพินครอบครัวชัยภูมิและใครหลายคนที่เป็นญาติมิตรของชัยภูมิที่ต่อสู้มาอย่างนานถึงหกปี เขาทั้งหมดทีจิตใจที่อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ทั้งชัยภูมิและคนอื่นๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบแบบนี้ ตลอดหกปีที่ผ่านมาทางญาติญาติชัยภูมิต้องรับผลอย่างอื่นมากมายทั้งที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่นในชุมชนชุมชนเกิดความไม่ไว้วางใจรังเกียจครอบครัวนี้หรือสังคมมองครอบครัวนี้หรือมองตัวไมตรีที่มีความเสี่ยงกับชัยภูมิยังไงซึ่งผลกระทบเกิดจากการยืนหยัดต่อสู้จึงต้องใช้กำลังใจเยอะมาก มันมีคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคมนี้ซึ่งเราต้องให้กำลังใจกันต่อไปมันคงไม่จบอยู่แค่นี้ และที่สำคัญชัยภูมิไม่ใช่เด็กคนแรกที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมตนเชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนที่ตายไปที่เราไม่ได้รับรู้ซึ่งกรณีของชัยภูมิก็เลยถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ และคุณูปการของการตายของชัยภูมิได้สร้างบทเรียนให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม ชัยภูมิอาจจะไม่ใช่คนสุดท้ายอีกเราจะถอดบทเรียนกรณีของชัยภูมิอย่างไรให้กระบวนการลดอคติทางสังคมลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้าใจเพื่อที่จะได้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและมีกระบวนการทางกฎหมายที่ครอบคลุมถึงสิทธิส่วนบุคคลทั้งกายวาจาใจหวังว่าพวกเราจะใช้บทเรียนนี้มาถอดและทำงานร่วมกัน

ขณะที่ปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่าถึงรายละเอียดข้อกฎหมายในวันนี้ว่า วันนี้ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องไม่ให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาใด ศาลฎีกาพิพากษาให้กองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารต้องรับผิดชอบค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งได้แก่ค่าปลงศพ 1,020,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะที่ชัยภูมิต้องอุปการะแม่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ที่เกี่ยกับเรื่องการทำมาหากินของชัยภูมิเอาเงินมาอุปการะแม่ในแต่ละเดือน และค่าขาดไร้อุปการะแม่ในอนาคตซึ่งศาลก็ฟังว่าตามประวัติการศึกษาของชัยภูมิเป็นเด็กที่เรียนดีก็ย่อมมีโอกาสที่จะศึกษาจบปริญญาตรีแน่นอนในอนาคตและย่อมมีโอกาสที่จะได้อาชีพการงานที่จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน ตามที่เราฟ้องเข้าไป ศาลก็กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จนกว่าแม่จะอายุ 80 ปี ซึ่งเราคำนวณตามอายุ ณ ขณะที่ชัยภูมิถูกยิงรวมไปอีก 29 ปี ศาลคำนวณส่วนนี้ให้ครบถ้วน รวมค่าขาดได้การอุปการะเป็นเงิน 1,900,000 กว่าบาท นี่คือผลที่เกิดขึ้น

ข้อสำคัญคือข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังนั้นถือได้ว่าศาลฎีกามีความละเอียดมากพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของการเกิดเหตุการณ์ขึ้นในวันที่ 17 มี.ค. 2560 เรื่องกล้องวงจรปิดเช่นเดียวกัน ศาลฟังเลยว่ากล้องวงจรปิดพยานฝ่ายจำเลย เจ้าหน้าที่รวมทั้งพนักงานสอบสวนที่ตรวจสอบมาแล้วได้ยืนยันว่ากล้องวงจรปิด 9 ตัวนั้นใช้งานได้ 6 ตัว ซึ่งเราก็ได้มีการอ้างเรื่องนี้เข้าไปแล้วตั้งแต่ชั้นการไต่สวนการตาย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็บ่ายเบี่ยง นี่คือข้อสำคัญที่หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกองทัพบกควรจะมาตรวจสอบจัดการในเรื่องลักษณะอย่างนี้ว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของตนเองกระทำการสิ่งใดกระทบต่อร่างกายชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนอยู่แล้วทำไมถึงไม่แสดงกล้องวงจรปิดออกมา ซึ่งหลักฐานที่ส่งมาไม่ได้ครอบคลุมวันที่เกิดเหตุ แต่ไปเอาวันที่พ้นจากวันเกิดเหตุมานำส่ง ศาลฟังแล้วเชื่อได้ว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญทางนิติวิทยาศาสตร์

อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่อ้างว่าชัยภูมิมีระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหารจึงต้องยิงป้องกันตัวนั้นก็ฟังไม่ได้ เพราะตอนที่ให้หยุดรถตรวจค้นตัว ตรวจค้นรถก็ชัดเจนว่ามีการเปิดข้างในรถเปิดประตูทั้งสี่บาน เปิดท้ายรถ เปิดด้านหน้ารถหมดแล้วเจ้าหน้าที่ทหารเองก็ยืนยันว่าตอนตรวจค้นนั้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ดังนั้นอาวุธวัตถุระเบิดมันคือระเบิดอาวุธสงครามด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คุณตรวจไม่เจอแล้วชัยภูมิจะวิ่งไปเอาระเบิดนั้นในภายหลัง 

การควบคุมตัวชัยภูมิด้วยเช่นกันศาลก็ฟังว่าในภาวะนั้นทหารหลายนายควบคุมเขาอยู่แล้ว แต่เขาแค่สะบัดและวิ่งหนีเท่านั้นเองและมีประจักษ์พยานชาวบ้านคนหนึ่งที่พาหลานมาในพื้นที่ใกล้ ๆ ก็เห็นเหตุการณ์ว่าชัยภูมิวิ่งไปไม่ได้มีสิ่งผิดกฎหมายหรือมีอะไรที่จะชี้ได้เลยว่าเป็นวัตถุระเบิดหรือสิ่งของใดๆ ที่จะไปทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหารได้ ศาลเลยฟังว่าน้ำหนักพยานของฝ่ายจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารนั้นฟังไม่ได้ไม่มีน้ำหนักพอ ศาลจึงเชื่อว่าเหตุการณ์ที่อ้างว่าชัยภูมิมีระเบิดและกำลังจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่จึงยิงนั้นเป็นการฟังไม่ได้ว่ามีระเบิดจริง ประกอบกับระเบิดอย่างที่ว่านี้เป็นวัตถุระเบิดที่มีขั้นตอนที่จะปลดสลักอยู่หลายขั้นตอน พยานผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดก็มีให้การไว้แล้ว สอดรับกับพฤติการณ์ที่ฝ่ายครอบครัวซึ่งเป็นโจทก์อ้างว่าชัยภูมิไม่มีวัตถุระเบิดแน่ๆ

เรื่องวัตถุระเบิดศาลก็พิจารณาละเอียดไปถึงขั้นที่เรานำสืบว่า วัตถุระเบิดถ้าจับจริงเอาออกจากรถวิ่งไปแต่ตรวจไม่พบดีเอ็นเอของชัยภูมิในวัตถุระเบิดเลย ศาลก็เชื่อว่าเมื่อไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือหรือดีเอ็นเอของชัยภูมิเลยที่ด้ามของระเบิดมันก็เป็นข้อพิรุธอย่างมากว่าระเบิดนั้นมาจากไหน แล้วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

นี่คือภาพโดยรวมว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธงสงครามยิงโดยพลทหารที่ยิง ศาลเชื่อว่าทหารยิงเพื่อสกัดไม่ให้ชัยภูมิหลบหนี และยิงหนึ่งนัด ประกอบกับที่เขาเคยบอกกับพยานของเราว่าที่เขายิงเขาไม่ได้ตั้งใจ ศาลเลยไปฟังว่าเขาไม่ได้มีเจตนาฆ่าแต่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ยิงนั้น เมื่อเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้ชัยภูมิเสียชีวิตจึงเป็นการละเมิด และเมื่อเป็นการละเมิดก็เกิดความเสียหายต่อแม่ซึ่งเป็นโจทก์ที่ต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากชัยภูมิในอนาคตศาลก็เลยมีคำพิพากษาว่า กองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องรับผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.ความรับผิดทางการละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี พ.ศ. 2539

“โดยสรุปก็คือ ขณะนี้ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยกองทัพบกต่อแม่ชัยภูมิเป็นเงิน 2,072,400 บาท รวมดอกเบี้ยอีกต่างหาก ดอกเบี้ยจะนับตั้งแต่วันกระทำละเมิดร้อยละ 7.5 ต่อปี มาจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 64 ซึ่งมีการแก้ไขดอกเบี้ยใหม่ ของเดิม 7.5 ต่อปี ของใหม่จะเป็นร้อยละ 5 ซึ่งขั้นตอนต่อไปฝ่ายกองทัพบกจะต้องนำเงินมาวางไว้ที่ศาลตามคำพิพากษา ซึ่งฝ่ายการเงินของศาลแพ่งจะทำการคำนวณออกมาให้ว่าวันไหนที่เขามาวางเงินเพื่อจ่ายให้กับโจทก์หรือแม่นั้นเขาก็จะคำนวณดอกเบี้ยให้เรียบร้อย เมื่อเขามาวางไว้ที่ศาลทางเราก็มีหน้าที่ติดต่อฝ่ายแม่ให้เตรียมไว้ในเรื่องของการทำบัญชีเงินฝากของแม่และนำเอาไว้ที่ฝ่ายการเงินเมื่อเงินยื่นมาทางฝ่ายการเงินของศาลแพ่งก็จะโอนเข้าบัญชีแม่

อย่างน้อยก็ได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่งแต่คำถามสำคัญก็คือว่าหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกองทัพบกที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนสุขทุกข์ของประชาชนด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแบบนี้ กองทัพบกจะทำอย่างไรในเชิงนโยบายไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และที่เกิดขึ้นมาแล้วควรจะไปทบทวน เอาสถิติเอาข้อเท็จจริงมาดู ไม่ใช่สู้กันจบแล้วจบไปเพราะรัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ต้องดูโดยละเอียดว่าทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเกิดคำถามว่าประชาชนจะมั่นใจกับรัฐได้อย่างไรในความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน กองทัพบกจ่ายเงินไปในนามของรัฐมากมายแล้วจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกระทำต่อประชาชน ดังนั้นจะมีมาตรการนโยบายในการควบคุมกำกับอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีกและไม่ช่วยปกปิดความจริง เช่นกรณีของกล้องวงจรปิดในคดีของชัยภูมิ