ไม่พบผลการค้นหา
“สาธิต” รับไม่ได้ 16 สส.ปชป. แหกมติพรรค บี้ตั้งกรรมการสอบสวน เหตุทำให้เสื่อมเสีย ระบุ โทษหนักสุดขับออกจากพรรค

เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 23 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่ สส.พรรคประชาธิปัตย์ โหวตสวนมติพรรคในการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ก็ต้องพิจารณาดู เพราะองค์ประกอบของพรรค 3 ส่วน คือตัวพรรค กรรมการบริหารพรรค และ สส. แต่การที่ไปปฏิบัติแล้วทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณจนทำให้เกิดความแตกแยกนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิกพรรคจํานวน 20 คน ที่จะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวน ว่าพฤติการณ์ที่ทำนั้นมีความสูญเสียต่อพรรคมากน้อยอย่างไร ซึ่งมีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้ยกขึ้นมา แม้จะเป็น สส. แต่หากมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็มีความชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไปเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจะร่วมรัฐบาลนั้น ต้องมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น การดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์มีขั้นตอนอยู่ บุคคลใดที่เป็น สส.หรือทำหน้าที่รักษาการที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง และไม่ได้รับการมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค หากไปเปิดตัวเกินหน้าที่ จนพรรคเสื่อมเสีย ต้องยอมรับว่าในระบบตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นฝ่ายค้านไปแล้ว โดยพรรคแกนนําได้จัดตั้งรัฐบาลกับ 11 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปดำเนินการจัดการปัญหาภายในของพรรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะคนที่โหวตสวนมติพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น สาธิต กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นไปตามข้อบังคับของพรรค ซึ่งมีการระบุไว้ว่าใครมีสิทธิ์ทำอะไรอย่างใด เช่น มีสมาชิกพรรค เห็นว่าสมาชิกบางคนที่เดินทางไปพบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ตอนแรกบอกไม่ได้ไปพบ แต่ไปพูดในรายการโทรทัศน์ว่าไปพบจริง ซึ่งทำให้พรรคเสียหาย ถือว่าเข้าข่าย ใม่ปฏิบัติตามจริยธรรม และสร้างความเสียหายให้พรรค 

สาธิต กล่าวอีกว่า แม้การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่มติที่ประชุม สส.ของพรรค ก็มีความสำคัญ ไม่ผิดในมติของพรรค แต่ผิดที่ทำให้พรรคเสียหาย ซึ่งตรงนี้เป็นสิทธิ์และขั้นตอนตามข้อบังคับพรรคการเมือง 

เมื่อถามว่า สาธิต จะเป็นผู้รวบรวมเสียงสมาชิกพรรค 20 คน เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ สาธิต กล่าวว่า มีคนดำเนินการไปแล้ว ซึ่งมีสมาชิกเกิน 20 คน ตนมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะการนำ สส.หน้าใหม่ ที่ขาดประสบการณ์ไปร่วมด้วยนั้น เป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคเห็นความไม่ถูกต้องเหล่านี้ ส่วนการตรวจสอบนั้น มีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งในแง่การปฎิบัติตัว เช่นการพูดจา ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามขั้นตอนที่เราปฏิบัติกันมาหลายครั้งแล้ว และทุกคนมีความเข้าใจกันดี 

เมื่อถามว่า มติของที่ประชุม สส.ของพรรคประชาธิ ขอให้งดเสียงหรือให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. สาธิต กล่าวว่า ตามกฎหมายถือเป็นเอกสิทธิ์ อ่านขั้นตอนของพรรคก็มีการดำเนินการ เช่น หากเป็นเอกสิทธิ์ ถ้าไม่มีการพูดคุย ก็ไม่มีกาาพูดคุย แต่ถ้าที่ประชุมมีการพูดคุยและมีมติ ก็ควรจะปฏิบัติตามมติ แต่ถามว่าผิดหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าข้อบังคับพรรคคุ้มครองอยู่ แต่เมื่อมีการคุย แล้วไปลงอีกอย่างหนึ่ง ก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกในพรรค สร้างความเสียหายให้กับพรรค

เมื่อถามว่า ต้องขับออกจากสมาชิกพรรคหรือไม่ สาธิต กล่าวว่า เป็นไปตามหนักหรือเบา แต่สำหรับตน มองว่าหนักมาก ซึ่งก็อยู่ที่ระเบียบข้อบังคับของพรรค ว่ากรรมการบริหารพรรคมีมติร่วมกับที่ประชุม สส.อย่างไร ซึ่งมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

เมื่อถามยํ้าว่า โทษหนักถึงขั้นต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ สาธิต กล่าวว่า โทษหนัก สามารถขับออกจากพรรคได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของพรรค จริงๆ ทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ แต่หากทำความเสียหายในระดับนี้ หัวหน้าพรรคก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวน