แม้มนุษย์ยังไม่สามารถพาตัวเองย้อนกลับไปในอดีตหรือล่วงไปสู่ห้วงอนาคต แต่การเก็บรักษาข้อมูลที่ดีก็ทำให้ ‘วอยซ์’ สามารถพาผู้อ่านกลับไปเยือนบทความของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 22 มี.ค.2523 ซึ่งอุทิศหน้าแรกให้ เหล่าตัวจริงในวงการอวกาศมาเปิดโปงว่าเหตุใดอวกาศจึงไม่น่าลงทุนและถ้ามองเลยเรื่องวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คงไม่มีธุรกิจใดนอกจากโทรคมนาคมที่จะได้ประโยชน์
'เจมส์ โรส' ชายผู้ครองตำแหน่งผู้จัดการกระบวนการประมวลผลทางอวกาศของแมคดอนเนลล์ ดักลาส (McDonnell Douglas) อดีตบริษัทผลิตยานอวกาศชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 ก่อนปิดกิจการลงเมื่อปี 2540 ย้ำชัดเจนว่า "อวกาศกาศเรียกร้องเงินและเวลามหาศาลเพื่อคิดให้ออกว่าเราจะสร้างอะไรได้ ต้องใช้ต้นทุนเท่าไหร่ และท้ายสุดจะเป็นประโยชน์กับเราจริงหรือไม่"
เช่นเดียวกับอดีตเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดของโบอิง ผู้ปิดดีลซื้อกิจการแมคดอนเนลล์ ดักลาสมาไว้ในมือ (ด้วยมูลค่า 13,000 ล้านบาท ณ ขณะนั้น) พร้อมครองตำแหน่งหนึ่งในสองบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ที่กินส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลก อย่าง 'กิลเบิร์ต เคย์' และ 'จอห์น บอสมา' ซึ่งเขียนในรายงานของบริษัทว่า การพัฒนาระบบเชื่อมต่อเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้อวกาศสามารถทำเงินให้กับธุรกิจได้เป็นเรื่องที่แพงเกินไป
เท่านั้นยังไม่พอ "ปัญหาหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศคือ การเงิน การจัดการ และ การเมืองมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี"
เราคงไม่เถียงว่า 'การเมือง' มีผลมหาศาลต่อนโยบายขับเคลื่อนทางอวกาศไม่ว่าจะในอดีตหรือแม้แต่ปัจจุบัน ทว่าคนเหล่านี้อาจคิดผิดในประเด็นการตลาดแห่งดินแดนอันไกลโพ้น เมื่อล่าสุด มอร์แกน สแตนลีย์ ปรับประเมินมูลค่าบริษัทระยะยาวของ Space X ขึ้นไปทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี การมองด้วยสายตาจากชาวอนาคตกลับไปดูแคลนแนวคิดในอดีตไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากนัก
ด้วยเหตุนี้ 'วอยซ์' จึงชวน 'ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน' หรือ เติ้ล บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ spaceth.co มาพูดคุยถึงยุคสมัยแห่งอวกาศที่มนุษยชาติกำลังดำเนินไป
ณัฐนนท์ ผู้เดินสายให้สัมภาษณ์กับสารพัดสื่อในช่วงที่ผ่านมา หลังตัวเขาขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในฐานะผู้มอบโบขาวให้เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุม ทิ้งประเด็นการเมืองไว้เบื้องหลัง (ชั่วคราว) ก่อนเล่าให้เราฟังถึงความยิ่งใหญ่ในวงการอวกาศโลกที่กำลังจะเดินทางมาถึงในอีก 4 ปีข้างหน้า
ประเด็นดังกล่าวคือสหรัฐฯ ตั้งใจจะกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งหนึ่งเฉกเช่นกับครั้งประวัติศาสตร์ของโครงการอะพอลโล (Apollo) ที่ทำให้โลกได้จารึกชื่อ 'นีล อาร์มสตรอง'
อย่างไรก็ดี เติ้ล ชี้ว่าความแตกต่างของการเดินทางไปยังดาวเคราะห์ซึ่งเป็นบริวารของโลกครั้งนี้อยู่ที่เป้าหมายเบื้องหลัง
ในยุคอะพอลโล อวกาศยังอยู่ภายใต้สมัยที่วิทยาศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจทางความรู้ไปจนถึงการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ทว่าเมื่อสงครามเย็นจบลงและโลก (ส่วนใหญ่) ถูกปกครองด้วยระบบทุนนิยม การเดินทางสู่ดินแดนไกลโพ้นจึงเป็นการหยิบวิทยาศาสตร์มาตอบโจทย์บัญชีรายได้ของบริษัทเอกชน (space commercialization) มากกว่าแสดงอำนาจทางการเมือง (มากเท่าเดิม)
"มันไม่ใช่สหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ ซ้ายหรือขวาอีกแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของธุรกิจ มันเป็นเรื่องของการที่เขาพยายามจะดึงเอาเอกชนมาลงทุน อีลอน มักส์, เจฟ เบซอส หรือว่าคนดังๆ ที่เป็นมหาเศรษฐี เขาพยายามจะมองอวกาศให้เป็นแหล่งลงทุนว่าในอนาคต เราจะได้ประโยชน์อะไรบางอย่างกลับมา"
ตัวอย่างความพยายามทำกำไรจากอวกาศแบบเป็นรูปธรรมและไม่ซับซ้อนที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำให้ดินแดนไร้แรงโน้มถ่วงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่ามหาเศรษฐี 1% ผู้อยู่บนยอดพีระมิดเงินได้ของโลกในช่วงแรก ซึ่งความสำเร็จที่จับต้องได้ในขั้นแรกของปี 2563 คงหนีไม่พ้นการส่งยานอวกาศ Crew Dragon ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสเปซเอ็กซ์ (Space X) ของ 'อีลอน มักส์' กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) เพื่อเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พร้อมกับนักบินอวกาศ 2 ราย ได้แก่ โรเบิร์ต เบ็นเคน วัย 49 ปี และ ดักส์ลาส เฮอร์เลย์ วัย 53 ปี เมื่อ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อมองต่อว่าอวกาศจะมาสร้างประโยชน์ทางการเงินรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นไร ทั้งยังเป็นการย้อนไปตอบข้อสงสัยของเหล่าผู้คนในอุตสหกรรมอวกาศยุคทศวรรษ 80 อาจต้องมองไปที่ประเด็นอย่าง 'microgravity' หรือสภาวะที่มีแรงโน้มโถ่งน้อย ซึ่งเป็นสภาวะที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยชี้ว่าเหมาะสมต่อการทำวิจัยและทดลองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ รวมไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุปกรอิเล็กทรอนิกส์
วิเคราะห์การตลาดแค่เพียง 2 วงการแรก ควบคู่ไปกับรายงานจากสหประชาชาติที่ชี้ว่า ภายในปี 2593 (อีก 30 ปีต่อจากนี้) ประชากรหนึ่งในหกของโลกจะมีอายุมากกว่า 65 ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประชากร 16% ของทั้งโลก นักธุรกิจย่อมต้องมองออกว่า ตลาดสุขภาพของผู้คนจะทำเงินได้มากขนาดไหน ยิ่งเมื่อพิจารณาจำนวนลูกค้า (potential customer) กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน
นอกจากประเด็นเรื่องการทำเงิน อีกสิ่งที่มาควบคู่กันอย่างแบ่งแยกไม่ได้อย่าง 'space democratization' คือสิ่งที่ บรรณาธิการบริหารแห่ง spaceth.co ภูมิใจนำเสนอกับเรา
เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเป้าหมายของการเดินทางไปอวกาศไม่ใช่เป็นการอวดเบ่ง(เท่าเดิม)อีกต่อไป ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่ของโลกนี้หันมายึดหลักประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงไม่อาจกระจุกตัวอยู่กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเป็นสภาวะที่ประชากรโลกทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางอวกาศได้อย่างเสรี
เขายังเล่าให้เราฟังอีกว่า ไม่นานมานี้ทีมงานของ spaceth.co มีโอกาสได้ส่งงานวิจัยของตนเองขึ้นไปเยือนเส้นคาร์เเมน (Kármán line) หรือบริเวณที่ได้รับการตกลงร่วมว่าจะใช้เป็นจุดแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศของโลกกับอวกาศ ซึ่งปัจจุบันกลับมาอยู่ในอ้อมกอดของพวกเขาอีกครั้งบนดินแดนประเทศไทย
ก่อนจะอธิบายว่าเขาส่งอะไรออกไปลอยเคว้งคว้างอยู่บริเวณสุดขอบบรรยากาศโลก เติ้ล ย้ำว่า การที่งานวิจัยของกลุ่มคนธรรมดาแบบเขาได้รับโอกาสเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำทิศทางประชาธิปไตยอวกาศที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ และความเปิดกว้างดังกล่าวจะส่งให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกวงการไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์-อวกาศเท่านั้น
ทีมวิจัยของเขาส่ง 'ดีเอ็นเอ' หรือสายรหัสพันธุกรรมนุษย์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อใส่เพลงความฝัน กับ จักรวาล ของวง bodyslam ขึ้นไปบนอวกาศเพื่อตอบสนองเป้าหมายสูงสุดของมวลมนุษยชาติในการทิ้ง 'รอยเท้า' ของวัฒนธรรมมนุษย์เอาไว้ให้ชนรุ่นหลัง หากวันแห่งการจบสิ้นยุคสมัยมาถึงจริง
ขณะสังคมโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยบนอวกาศ 'วอยซ์' จึงอดไม่ได้ที่จะถามบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่มีคอนเทนต์เชื่อมโยงกับการเมืองไทยไม่ขาดสายว่า แล้วประเทศของเราจะเป็นอย่างไร หรือถามง่ายๆ ว่า "ประเทศจะมีประชาธิปไตยหรือจะไปดวงจันทร์ก่อนกัน"
เติ้ลหยุดไปสักอึดใจ ก่อนตอบคำถามว่า "มันต้องไปพร้อมกัน" เขาอธิบายเพิ่มเติมคำตอบ ในนิยามของเขาว่า
"ประชาธิปไตยในที่นี้ไม่ใช่แบบที่อยู่ในหนังสือเรียน แต่หมายถึง คนในประเทศสามารถมีส่วนร่วมกับการเมือง การปกครองได้ โดยที่เขาไม่ต้องกลัวว่าเขาพูดอะไรแล้วเขาจะถูกจับติดคุก ขณะที่อวกาศหรือการไปดวงจันทร์ ไปดาวอังคารอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราต้องการก็คือกำลังของคนแล้วก็ศักยภาพของคนที่ถ้าจะเอาแค่คนกลุ่มเดียวหรือว่าชุดความคิดเดียวมันไม่ทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ ไปถึงจุดนั้นแล้วเราก็ไม่ได้ไปไหนต่อ เหมือนกับการแข่งขันด้านอวกาศในสมัยสงครามเย็น แต่การที่เราจะก้าวไปอวกาศกันได้ทุกคนหรือทุกคนได้รับประโยชน์จากการไปอวกาศคือการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งมันไม่ได้แปลกไปกว่าหลักการของประชาธิปไตย"
อ้างอิง; NASA, NYT, Britannica, CNBC, Legacy, Forbes, Trefis, Encyclopedia, Bloomberg, UN