วันที่ 15 ก.ค. 2565 พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ ‘วอยซ์’ ถึงทิศทางการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ในวันที่ 19-22 ก.ค.นี้ ว่า ในการลงมติไม่ไว้วางใจครั้งนี้นั้น ตนจำเป็นต้องฟังเนื้อหาในการอภิปรายของฝ่ายค้านก่อนตัดสินใจ เพื่อให้รับทราบว่ารายละเอียดของข้อกล่าวหาและทุจริตเป็นอย่างไร สำหรับนายกรัฐมนตรีนั้น จะถูกโจมตีในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากครั้งนี้ฝ่ายค้านสามารถอภิปรายได้ดี และฝั่งรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงได้ ก็ต้องรอดู
“เราในฐานะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องให้เกียรติ หากครั้งนี้ข้อมูลไม่มีอะไรแตกต่าง ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีข้อมูลที่แตกต่าง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่แย่ลง อย่าง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ก็ได้จั่วหัวเรื่องการทุจริตไว้หลายๆ เรื่อง”
สำหรับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีชื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น พนิต ประเมินว่ายังค่อนข้างยาก เนื่องจากครั้งนี้ฝ่ายค้านได้หยิบยกปัญหาในมิติเศรษฐกิจต่างๆ มากมายมามัดตัว อย่างไรก็ต้องรอดูการชี้แจงของท่านรัฐมนตรีก่อนว่าเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ พนิต ยังมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะผ่านการอภิปรายฯ ไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร โดยคาดว่าจะได้รับเสียงไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งไปพอสมควร แต่หากว่าเสียงไว้วางใจน้อยมาก ก็น่าจะเป็นเรื่องของเกมการเมืองมากกว่า ขณะที่รัฐมนตรีรายอื่น หากได้รับเสียงไว้วางใจน้อย ก็น่าจะเป็นเรื่องของแต่ละพรรค โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีหลักฐานการทุจริตชัดเจน จะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
พนิต ย้ำว่า ส.ส.ทุกฝ่าย ควรฟังข้อมูลแล้วตัดสินใจว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวเรื่องใดดีกว่า ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นโอกาสดีของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน จะได้ลงมติตามที่ได้รับฟังมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากเกมการเมือง หรือรับอะไรจากใครมา
“แต่ ส.ส.พรรคเล็ก อาจจะคิดต่างจากเราที่เป็นนักการเมืองอาชีพ มีที่มา มีอดีต เขาอาจจะมาเฉพาะกาลหรือไม่ก็ไม่รู้ ผมคงพาดพิงอะไรมากไม่ได้ แต่ผมรู้สึกว่าผิดหวัง” พนิต ระบุ
สำหรับ พนิต เคยเป็น ส.ส.ส่วนน้อยในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติงดออกเสียง ในการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2564