กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียและปากีสถาน ยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงบานปลาย เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่าความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศจะไม่ดำเนินไปถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์ แต่คาดว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดจะยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้
ท่าทีของสหรัฐฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งต้องการให้ทั้งสองประเทศกลับสู่กระบวนการเจรจาหาทางยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี และระงับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะหลายครอบครัวมีฐานะยากจนและไม่สามารถย้ายถิ่นที่อยู่ได้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรยืนยันว่าจะพิจารณาขึ้นบัญชีดำกลุ่มติดอาวุธ ยาอิช-อี-มุฮัมหมัด (เจอีเอ็ม) ซึ่งมีฐานที่มั่นในปากีสถาน และเป็นผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์ฆ่าตัวตาย ทำให้กองทหารอินเดียเสียชีวิต 40 นาย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ในดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย ทำให้อินเดียปฏิบัติการโจมตีทางอากาศปากีสถานครั้งแรกในรอบ 50 ปี เพื่อโจมตีที่มั่นของกลุ่มเจอีเอ็ม และกองทัพปากีสถานตอบโต้กลับด้วยการยิงเครื่องบินรบของอินเดียตก 2 ลำ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. โดยระบุว่านักบินอินเดียรุกล้ำน่านฟ้าปากีสถาน ทั้งยังมีการควบคุมตัวนักบินอินเดียที่ดีดตัวออกจากเครื่องบินเอาไว้ด้วย
บัญชีทวิตเตอร์ของรัฐบาลปากีสถานได้เผยแพร่ภาพซากเครื่องบินรบของอินเดีย พร้อมระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของชาติ และเวลาต่อมายังได้มีการเผยแพร่ภาพนักบินอินเดียซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ได้ ทำให้อินเดียแถลงประณามปากีสถานว่าไม่เคารพหลักการระหว่างประเทศที่จะต้องไม่เปิดเผยภาพของผู้ถูกควบคุมตัวในขณะปฏิบัติหน้าที่ และปากีสถานประกาศว่าจะปล่อยตัวนักบินและส่งกลับอินเดีย แต่บริเวณชายแดนทั้งสองประเทศยังไม่ผ่อนคลายความตึงเครียด เพราะยังมีการยิงปืนใหญ่ข้ามฝั่งเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ไมเคิล มิลส์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของสหรัฐฯ เปิดเผยกับบิสซิเนสอินไซเดอร์ว่า ทั้งปากีสถานและอินเดียต่างมีขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครอง หากทั้งคู่ก่อสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ ก็จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งภูมิภาค เพราะความร้ายแรงของขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ทั้งสองประเทศมีอยู่ในครอบครองจะเทียบเท่ากับเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมะของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
มิลส์ประเมินว่า หากมีการโจมตีกันด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนข้อพิพาทแคชเมียร์ แรงระเบิดและกัมมันตรังสีจะแพร่กระจายได้ไกลในรัศมีหลายร้อยกิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ทั้งยังจะเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ตามมา คาดว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ปัจจุบัน มี 9 ประเทศทั่วโลกที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ (1) รัสเซีย (2) สหรัฐฯ (3) ฝรั่งเศส (4) จีน (5) อังกฤษ (6) ปากีสถาน (7) อินเดีย (8) อิสราเอล และ (9) เกาหลีเหนือ แต่มีเพียง 5 ประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT ประกอบด้วยรัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส จีน และอังกฤษ ซึ่งมีเงื่อนไขห้ามประเทศภาคีผลิตหรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม
ส่วนอีก 4 ประเทศที่เหลือไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญา NPT ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่าแต่ละประเทศจะเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองตามความเป็นจริงหรือไม่
(ข้อมูลจาก Arm Controls Organization, ปี 2018)
ที่มา: AFP/ Business Insider/ Washington Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: