มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงเดือน เม.ย.–มิ.ย. 2563 ว่า มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้บริโภคให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 1,246 เรื่อง เนื่องจากช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ยังคงมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ปัญหาบางส่วนของผู้บริโภคจึงเป็นผลพวงมาจากโควิด-19 ด้วย
สำหรับปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ อันดับ 1 เป็นเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีเรื่องร้องเรียน 409 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 32.83 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด
อันดับ 2 เรื่องสินค้าและบริการทั่วไป มีจำนวน 329 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 26.40
อันดับที่ 3 คือเรื่องบริการสาธารณะ มีจำนวน 250 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.06
เมื่อดูรายละเอียดของเรื่องร้องเรียน พบว่าหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (409 เรื่อง) ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนเรื่องเจลแอลกอฮอล์ที่ไม่มีเลข อย. และการนำหน้ากากอนามัยมาแพ็กแบ่งขายผ่านออนไลน์ นับเป็นการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อสุขภาพทางเดินหายใจของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เป็นเท็จ หรือหลอกลวง ปัญหาการขายยาโดยไม่มีเภสัชกร รวมถึงปัญหาการขายผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกยกเลิกใช้อีกด้วย
สำหรับหมวดสินค้าและบริการทั่วไป (329 เรื่อง) พบปัญหาเกี่ยวกับเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยเช่นกัน โดยเป็นเรื่องการขายสินค้าเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยที่มีราคาแพงเกินจริง ราคาไม่ตรงป้ายสินค้า หรือไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อ โดยส่วนใหญ่มักเป็นการซื้อขายผ่านเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์
สุดท้าย หมวดบริการสาธารณะ (250 เรื่อง) ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับขนส่งทางอากาศ คือเรื่องการเลื่อน-ยกเลิกเที่ยวบินและปัญหาสายการบินยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยเฉพาะช่วงเดือน เม.ย. ที่มีวันหยุดช่วงสงกรานต์หลายวัน ผู้บริโภคได้จองตั๋วเดินทางล่วงหน้าเพื่อกลับบ้านหรือท่องเที่ยว แต่เกิดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคไม่ได้รับเงินคืนจากการจองตั๋ว และพบว่าสายการบินบางบริษัทอ้างว่าไม่มีนโยบายคืนเงินให้ผู้บริโภคใช้สิทธิเลื่อนตั๋วเพื่อให้เดินทางครั้งใหม่ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคบางรายต้องการเงินคืน ไม่ได้ต้องการเดินทางอีก ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน
จากปัญหาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 607 เรื่องหรือร้อยละ 48.72 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวังออนไลน์ เช่น มอนิเตอร์ร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โฆษณาเกินจริง หรือขายสินค้าแพงเกินจริง เป็นต้น โดยมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังเจ้าของร้านหรือเจ้าของเพจ ให้แก้ไข หรือหากไม่มีการแก้ไขแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่ควบคุมดูแล เช่น ETDA DE หรือ อย. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีและสามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสายการบิน กลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่มีการจองตั๋วแล้วเที่ยวบินยกเลิก ไม่ได้เดินทางซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องมีการตรวจสอบและแจ้งหน่วยงานดูแลควบคุมดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป