'สะท้าน ชีววิชัยพงศ์' ชาวบ้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้เขียนบันทึกและมีผู้นำมาเผยแพร่ว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.12 น.ของวันที่ 8 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ตนได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แจ้งว่า ชื่อ ส.ส.วีระกร บอกว่าเป็นกรรมาธิการของ ส.ส. (สภาผู้แทนราษฎร) เรื่องน้ำ โดยวีระกรได้ถามถึงหนังสือที่ตนส่งไปคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ว่า “คุณเป็นใคร อยู่ที่ไหน ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จริงหรือไม่ โครงการนี้ไม่มีผลกระทบอะไรเลย ในพื้นที่ได้ลงไปถามแล้วชาวบ้านบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย แล้วทำไมคุณได้รับผลกระทบ”
สะท้านเขียนบันทึกต่อไปว่า "ผมก็ตอบว่าผมเป็นคนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ทุกปีที่ดินของผมถูกน้ำยวมท่วมอยู่แล้ว"
"คุณวีระกรบอกว่าทุกครั้งที่มีเวที ไม่เห็นคุณมาเข้าร่วมเวทีเลย ผมบอกว่าเวทีทุกครั้งที่เขาเชิญ ผมเข้าร่วมทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วม คือเวทีกรรมาธิการของ ส.ส.เรื่องน้ำ ผมไม่ได้เข้าร่วม เหตุผลคือทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เชิญ คุณวีระกรบอกว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของผมก็เลยไม่เชิญผมเข้าร่วมเวที แล้วคุณวีระกรก็บอกต่อว่าในพื้นที่แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา อยู่ในพื้นที่อุทยานหมดเลย ผมก็บอกว่าพื้นที่ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ"
"คุณวีระกร ถามต่อว่าพื้นที่คุณมีโฉนดหรือไม่ ผมบอกว่ามีโฉนด อยู่ติดแม่น้ำยวม คุณวีระกรบอกผมว่าให้ผมถ่ายโฉนดที่ดินให้ด้วย และบอกว่าจะให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ มาตรวจสอบพื้นที่ แล้วบอกว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ที่คุณส่งหนังสือคุณมั่วแล้ว ผมบอกว่าผมไม่คุยแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ครับ"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 เครือข่ายลุ่มน้ำยวม เงา เมยและสาละวิน ที่ลงชื่อโดย 'สะท้าน' ได้ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่องขอคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลฯ โดยให้เหตุผล 8 ข้อ อาทิ การสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่า การสำรวจไม่ครอบคลุมชุมชนทั้งหมด ขอให้ทบทวนแนวทางการบริหารน้ำทั้งระบบ โดยในหนังสือฉบับนี้ได้แนบรายชื่อหมู่บ้าน 28 แห่ง ทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตากและเชียงใหม่ และหนังสือฉบับนี้นอกจากปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ลงนามรับทราบแล้ว ยังได้เวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2563 วีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน ได้เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านท่าเรือ ม.8 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และแม่น้ำยวมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล โดยวีระกรได้ให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่ที่คาดว่าราษฏรจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ไร่ ราษฏร 4 ครอบครัวที่ซึ่งมีอาชีพทำไร่ โดยทางภาครัฐก็จะดำเนินการชดเชยตามระเบียบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวได้ลงสำรวจพื้นที่โครงการดังกล่าวโดยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดอุโมงค์ กว่า 64 กิโลเมตร และชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ จึงได้ร่วมกันทำหนังสือคัดค้านและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อัดพฤติกรรม กมธ.บางคน - เป็นนายหน้าหรือ จนท.รัฐ
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า หากดูจากพฤติกรรมของ กมธ.บางคนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรมีบทบาทหน้าที่ทำการศึกษาและเสนอแนะ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือตามที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปรากฎว่า กมธ.บางส่วนกลับสร้างความคับข้อข้องใจให้ชาวบ้านว่าทำบทบาทของ ส.ส. และกมธ.ได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะมีท่าทีผลักดันโครงการฯชัดเจน
“เขามองไม่เห็นปัญหาของชาวบ้าน ทำหน้าที่คล้ายเป็นนายหน้าผลักดันโครงการฯ แทนหน่วยงานรัฐ โดยไม่สนใจเหตุผลที่คัดค้าน ว่าโครงการฯ จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่ในการลงทุน มิติเหล่านี้กลับไม่มีการพิจารณา
"เมื่อพวกเขาลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีแต่สิ่งที่พวกเขาพูดๆ จนแทบไม่มีเวลารับฟังเสียงที่ท้วงติงเลข ผมทราบมาว่าในการลงพื้นที่มีรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พยายามยกมือพูด แต่เขากลับไม่ยอมให้พูด แล้วนำมารายงานในที่ประชุม กมธ.ว่าประชาชนเห็นด้วยหมด วิธีการแบบนี้ไม่น่าจะเป็นบทบาทของ ส.ส. ซึ่งไม่ใช่ ส.ส. ในพื้นที่ด้วยซ้ำ” นายหาญณรงค์ กล่าว
หาญณรงค์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กมธ.บางคนให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ได้มีการเจรจากับทุนรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งจะมาลงทุนในโครงการนี้ฟรีเพื่อแลกกับสิทธิการในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตชายแดนไทย-พม่าและขายไฟฟ้าให้ไทย ถามว่าเรื่องนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของ กมธ.หรือไม่ ตนคิดว่าสภาควรมีการตรวจสอบการทำงานของ กมธ.หรือ ส.ส.ประเภทนี้ ว่าทำเกินเลยหน้าที่หรือไม่ หากทำแบบนี้ต่อไปชาวบ้านคงไม่สามารถไว้ใจในการทำหน้าที่ของ กมธ.ได้ เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็ทำตัวเหมือนเจ้าของโครงการ ชาวบ้านจะมั่นใจในการส่งเสียงสะท้อนและข้อท้วงติงผ่าน กมธ.ได้อย่างไร
แนะมองรอบด้าน คนเดือดร้อนมากกว่า 4 หลัง
คำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า พวกตนได้ลงพื้นที่โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไปคนละคณะกับ กมธ.ชุดใหญ่ โดยโครงการนี้กรมชลประทานได้ปักหมุดเอาไว้แล้ว และ กมธ.บางรายก็เชื่อตามกรมชลประทานที่บอกว่ามีบ้านที่ได้รับผลกระทบเพียง 4 หลัง แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผืนป่าใหญ่แห่งสุดท้ายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ซึ่งเราต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปใน กมธ. เพราะมีประชาชนเดือดต้อนจำนวนมาก การที่กรมชลประทานอ้างมีบ้านที่ได้รับผลกระทบแค่ 4 หลังนั้น อาจเป็นแค่จุดหัวงานเขื่อนสร้างโรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีหมู่บ้านอีกมากมายที่อยู่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนที่ได้รับผลกระทบ
คำพอง กล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยอยู่ในชุดอนุ กมธ.เจ้าพระยา ที่อยู่ในระหว่างทำการศึกษาและต่อเวลาออกไปน่าจะสิ้นสุดการในช่วงปลายปี ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้รับเข้าไปนำเสนอเช่นกัน โดยบทบาทของเราคือการศึกษาอย่างรอบด้านและเสนอแนะนำสู่สภา ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของศึกษาแนวทาง ไม่ใช่ศึกษาว่าจะไปสร้างโครงการหรือไม่ หรือรับรองพิมพ์เขียวให้หน่วยงานราชการ ถ้าเห็นด้วยกับพิมพ์เขียวแล้วของหน่วยงานราชการทั้งหมดแล้ว กมธ.จะศึกษาไปทำไม ถ้ากมธ.บางคนบอกว่าเป็นแนวทางที่ใช่แล้วก็คงต้องไปคุยกันใน กมธ.ให้รอบคอบกว่านี้เพราะมีผลกระทบมากมายซึ่งต้องอยู่ในรายงานของ กมธ.
“เราเห็นว่าทุกเขื่อนก่อนจะสร้างก็มักบอกว่าจะมีน้ำเข้าและกักน้ำได้มากมายเท่านั้นเท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเลย ทางตรงกันข้ามกลับมีผลกระทบต่อป่าและชุมชนมากมาย และสิ่งเหล่านี้เอากลับคืนมาไม่ได้ ตอนนี้ยังจะทำต่อไปอีก ถ้าล้มเหลวอีกจะทำอย่างไร” นายคำพอง กล่าว
กรณีที่ กมธ.บางคนโทรไปตำหนิชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน
คำพองกล่าวว่า อำนาจ กมธ.ต้องรับฟังชาวบ้าน แต่ไม่มีหน้าที่ตำหนิหรือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ควรศึกษาให้รอบด้าน ความเห็นของชาวบ้านมีส่วนสำคัญที่ต้องรับฟังเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง กมธ.ไม่มีหน้าที่บีบบังคับให้ชาวบ้านเห็นด้วยหรือจะโปรโมทโครงการให้หน่วยงานรายการ หรือการไปคุกคามวิถีชีวิตของคนในชุมชน คิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นความเห็นส่วนตัวหรือเรื่องอคติส่วนตัวของ กมธ.บางคนมากกว่า
“ปกติชาวบ้านเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบกับโครงการก็หนักพอควรแล้ว กมธ.ไม่ควรเข้าไปเผชิญหน้ากับชาวบ้านอีก มิเช่นนั้น ชาวบ้านก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เรามีหน้าที่ศึกษาให้รอบด้าน ถ้าชาวบ้านต้องการก็ค่อยเสนอแนะผ่านสภา แต่ไม่ใช่ไปยัดเยียดให้เขา เราเห็นอยู่แล้วแต่ละโครงการที่สร้างความเสียหายยามนี้ซึ่งเราเรียกร้องกลับคืนมาไม่ได้” นายคำพอง กล่าว
ทั้งนี้ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก เป็นโครงการของกรมชลประทาน ซึ่งระบุว่าเป้าหมายคือ ผันน้ำมาแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามี พื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่วะหลวง แม่สวด กองก๋อย และสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, ตำบลนาเกียน อมก๋อย และนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวม 36 หมู่บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: