“ในโลกที่ไม่แน่นอนใบนี้ ข้อเสนอที่จีนเสนอนั้นเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวสันติภาพ และการพัฒนาของโลก” หลี่กล่าวในการประชุม Boao Forum for Asia ประจำปีบนเกาะไหหลำของจีน “นี่เป็นกรณีในอดีตและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”
ผู้นำธุรกิจชั้นนำของโลกประมาณ 70 คน รวมถึง ทิม คุก จาก Apple โนเอล ควินน์ จาก HSBC และ สตีเฟน ชวอร์ซแมน ผู้ก่อตั้ง Blackstone ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่จีนเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกับความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 โดยจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่กลับต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากประชาคมโลก ในช่วง 3 ปีภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด
แม้จะมีรายงานข้อมูลที่สะท้อนภาพความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของจีน ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 แต่หลี่กล่าวว่า จีนกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การฟื้นตัว หลังการสิ้นสุดของนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ซึ่งถูกยกเลิกการบังคับใช้อย่างกะทันหัน ในช่วงเดือน ธ.ค. สืบเนื่องจากการประท้วงในหมู่ประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ
นายกรัฐมนตรีจีนตอกย้ำว่า จีนจะยังคง “แสวงหาความก้าวหน้า ในขณะที่รักษาเสถียรภาพ รวบรวม และขยายโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนอย่างต่อเนื่อง” อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่อ่อนแอที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เว้นแต่ปี 2563 เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การเดินทาง และการค้า
หลี่ ซึ่งเป็นผู้ภักดีต่อ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อต้นเดือนนี้ โดยเขากล่าวว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นที่จะ “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์โลกที่ “เปลี่ยนแปลงไป” นอกจากนี้ หลี่ยังกล่าวอีกว่าจีนต่อต้าน “ลัทธิปกป้องการค้า” และ “การแยกตัวออกจากกัน” ซึ่งเป็นการอ้างถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการจำกัดการพัฒนาของจีนในด้านสำคัญๆ อาทิ เทคโนโลยีผ่านการใช้มาตรการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆ
แม้ว่าหลี่จะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน แต่เศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของการเติบโตทั่วโลก อัตราการเกิดต่ำ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และการกดดันกลับที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร
ในอีกด้านหนึ่ง ตามข้อมูลของรัฐบาลจีน กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวลดลง 22.9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ในขณะที่ผลกำไรของบริษัทต่างชาติในจีนก็ปรับตัวลดลงกว่า 35.7% เช่นกัน รวมถึงกำไรของบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจีน ที่ลดลง 19.9% และ 17.5% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ บริษัทด้านการลงทุนกล่าวว่า จีนเกิดขีดจำกัดในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการส่งออกที่อ่อนแอ ในขณะที่การบริโภคยังคงฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ หลังจากหลายปีของความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นผลเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่มา: