ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' มอบนโยบายปราบหนี้ ผวจ.-นายอำเภอ-ผกก. ทั่วประเทศ ขอร่วมมือช่วยกัน กำจัด 'การค้าทาสยุคใหม่' ให้หมดจากประเทศ แนะประชาชนหากเจอทวงหนี้โหด ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน ให้ติดต่อสายด่วนทุกช่องทาง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ใช้ศาสตร์และศิลป์เจรจาไกล่เกลี่ย ประกาศหนี้นอกระบบต้องได้รับการจัดการอย่างเด็ดขาด

วันที่ 8 ธ.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ณ ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ชาดา ไทยเศรษฐ์, ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยทันทีที่เดินทางมาถึงนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมบูธ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ, ขั้นตอน และการลงทะเบียน รวมถึงแนวทางในการปราบปรามของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมี อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้บรรยาย

จากนั้นรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

โดยเศรษฐา กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ แต่มาขอแรงจากทุกท่านทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่ หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน

พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเราจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิตเพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่ พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เชื่อมั่นว่าพวกท่าน สามารถช่วยพี่น้องประชาชน ให้มีอิสรภาพ ต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้ได้

ในฐานะนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้ คงทราบกันดีว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม

เรื่องนี้ตนได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และ ครม. ก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ที่แล้วระหว่างที่เราไป ครม. สัญจร ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในวันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงและผู้นำหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศ มารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ จึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้ และทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของผม หรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน

สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน ผมคงต้องขอพูดถึงการลงทะเบียนที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทั้งหมด ที่ประชาชนจะเข้ามาสัมผัสกับพวกท่าน มาเล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อน

วันนี้เราทำต่างจากที่เคยทำมาในอดีต ได้บูรณาการช่องทางให้หลากหลาย เพื่อให้พี่น้องประชาชน เลือกเข้าไปในช่องทางที่พวกเค้ารู้สึกสะดวก ปลอดภัย 

ช่องทางแรก ทุกท่านคงทราบกับดีแล้ว ว่ากระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ได้มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท 

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนก็สามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้ ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้ 

เมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะมีการประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนก็จะได้รับเลข Reference Number ในทุก ๆ กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา

ขอให้ทุกท่านร่วมกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันสื่อสาร เชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อค เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ ทุกการสื่อสารของพวกท่านล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การแก้ไข หนี้นอกระบบประสบผลสำเร็จ

หลังจากที่เรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ ซึ่งถ้าพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที 

ย้ำว่าถ้าองค์ประกอบความผิดครบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

แต่เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ก็ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้นะครับ

การดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่รับเรื่อง รัฐบาลจะมีการติดตามผล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำการติดต่อติดตามผล เพื่อดูว่าทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่แล้วหากยังพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือถ้าในภายหลัง พบว่ายังมีการข่มขู่ หรือ เจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยฯ จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

กระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ แต่ขอย้ำว่านี่เป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นการไกล่เกลี่ย การให้คำแนะนำ และการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ เข้าใจดีว่าในหลายครั้ง ลูกหนี้ตั้งใจที่จะฟื้นฟูศักยภาพ และต้องการช่องทาง แหล่งเงินอื่นๆ นอกเหนือจากเจ้าหนี้ที่กล่าวไป 

โดยกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามโครงการที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งขั้นตอนที่ผมกล่าวไปทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นทาสหนี้นอกระบบ

ขอให้ทุกท่านศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงานให้ถ่องแท้ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนตั้งแต่การรับเรื่อง การช่วยเหลือ การไกล่เกลี่ย การบังคับทางกฏหมาย และอื่นๆ 

ขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย 

โดนหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ที่อำนาจตามกฏหมายของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร จึงขอให้ทุกท่านทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือกระทรวงการคลัง ให้ใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามที่พวกท่านถืออยู่ตามกฏหมาย ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่ท่านก็สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างสบายใจ

ขั้นตอนที่กล่าวไปนั้น เป็นขั้นตอนมาตรฐานที่ผมมั่นใจว่าทุกท่านในที่นี้ มีความสามารถที่จะปฏิบัติตามได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ในส่วนที่สำคัญ และผมอยากจะลงรายละเอียดให้มากขึ้นคือ ขั้นตอนที่ผมเข้าใจว่าในทางปฏิบัติมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท ซึ่งขั้นตอนนี้ เป็นทั้งศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ การคิดดอกเบี้ยหนี้สิน และเป็นทั้งศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ปัญหาที่ท่านอาจจะพบ คือการที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย อาจจะต้องออกไปพบ ไปพูดคุย เชิญชวน ซึ่งเป็นมาตรการที่ผมเรียกว่าไม้อ่อน เพื่อให้พวกเขาสมัครใจ เข้ามาสู่กระบวนการ และในหลายๆครั้ง ท่านอาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฏหมายในการบังคับ ซึ่งเป็น ไม้แข็ง ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ 

ขอให้ทุกท่าน ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ไม่หยุดช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขาไม่ยอมสมัครใจเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งผมขอมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฏหมาย สร้างความเดือดร้อนนานาชนิด ต้องแก้ปัญหาให้ได้ อย่าปล่อยผ่าน

ทุกคนต้องต้องนำความรู้ ด้านการทำสัญญาประนีประนอม ที่ต้องระบุรายละเอียดเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน กำหนดมูลหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ย การยกเลิกเพิกถอนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเงื่อนไขอื่นๆ ในการบังคับคดีหรือสิทธิในทางศาลได้โดยถูกต้องตามกฏหมาย ขอฝากให้ท่านใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างตรงไปตรงมาในการดำเนินงานนี้

 เรื่องถัดไปที่สำคัญ การทำงานเราจะต้องมีเป้าหมาย ขอประกาศเป้าหมายว่าหนี้นอกระบบจะต้องได้รับการโดยเด็ดขาด ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ที่เหมาะสม และกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งผมขอหลักการกว้างๆให้ท่านดังนี้ จะต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป” จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ ทางสำนักงานตำรวจ ท่านควรจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการในการจับกุมเพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด และระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน ทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ก็ควรกำหนดสัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมได้สำเร็จ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ทั้งในชั้นรับเรื่องร้องเรียนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และชั้นการทำสัญญาประนีประนอม ไว้ให้ชัด และไม่นานจนเกินไป

โดยกรอบข้างต้นเป็นกรอบกว้างๆ ที่ผู้บริหารจะต้องช่วยกันนำไปย่อยเป็นเป้าเล็กๆ ให้เป็นความสำเร็จ เพื่อให้ปัญหาที่ระบบลดน้อยลงไป

สำหรับยอดลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากการเปิดให้ลงทะเบียน 7 วัน ขณะนี้ มีจำนวน 75,199 คน แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 68,951 คน และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 6,248 คน รวมจำนวนเจ้าหนี้ 47,174 คน มีมูลหนี้รวมประมาณ 3,820 ล้านบาท