ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติย้ำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเฟส 2 ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่มทุกประเภท ตั้งแต่ลดเพดานดอกเบี้ย-ขยายวงเงินสินเชื่อ-ขยายเวลาผ่อนชำระ-ยกเลิกการจำกัดวงเงินสินเชื่อเช่าซื้อสินเชื่อบ้าน เปิดทุกช่องทางรับร้องเรียนอุปสรรคปัญหาผ่านเว็บไซต์ 'ทางด่วนแก้หนี้'

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกประกาศถึงสถาบันการเงินทุกแห่งทั้งแบงก์และนอนแบงก์ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 ที่ออกไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี 4 มาตรการช่วยเหลือ ประกอบด้วย มาตรการแรก คือ ลดเพดานดอกเบี้ยทั้งกระดาน เป็นมาตรการระยะยาว ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 นี้เป็นต้นไป 

มาตรการ 2 คือมาตรการขยายวงเงินสินเชื่อ ส่วนนี้เป็นมาตรการชั่วคราว ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 แต่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 

มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2563 หรือต่อไปอีก 6 เดือน และจะเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ครอบคลุมทุกคน โดยย้ำว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งแบงก์ นอนแบงก์เห็นร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติแต่ละสถาบันการเงินอาจให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่านี้ได้

มาตรการที่ 4 เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ คือให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำหนี้ได้ตามสัญญามีกลไกเช่นเดียวกับคลินิกแก้หนี้

"สิ่งสำคัญคือผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดทำทางเลือกและจัดหาช่องทางที่เหมาะสมกับลูกหนี้สินเชื่อแต่ละประเภท โดยต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วน ให้ลูกหนี้สามารถเปรียบเทียบภาระเก่ากับใหม่ว่าแตกต่างอย่างไร ต้องทำให้ถูกต้องชัดเจน หรือกรณีลูกค้าไม่สามารถใช้มาตรการใดๆ ที่ออกมาได้เลย สถาบันการเงินต้องเข้าไปดูแลและเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เพื่อไม่ให้เสียหายกลายเป็น NPLs (หนี้เสีย) ด้วย" นางธัญญนิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังให้นโยบายสถาบันการเงินให้พิจารณาแนวทางให้รางวัลแก่ลูกหนี้ที่จ่ายหนี้ตรงเวลา มีประวัติชำระหนี้ดี เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ให้เงินคืนหรือ cash back เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา 

"จากที่ได้ยินได้ฟังจากสถาบันการเงินที่หารือกัน ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลว่าลูกหนี้ที่ยังสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ เขาไม่ได้ใช้มาตรการช่วยเหลือที่ออกมา เพราะเขาพยายามจะรักษาสถานะการเป็นลูกหนี้ที่ดีไว้ให้นานที่สุด หรือนอนแบงก์บางแห่งที่มีลูกหนี้กลุ่มรากหญ้ายังบอกด้วยว่า ลูกหนี้บางรายที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ ก็นำเงินก้อนนี้มาจ่ายชำระหนี้ด้วย" นางธัญญนิตย์ กล่าว  

ทั้งนี้ มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 1 ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 15 มิ.ย.2563) พบว่า มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ 15.2 ล้านราย ยอดหนี้รวม 3.87 ล้านล้านบาท 

สำหรับรายละเอียดของทั้ง 4 มาตรการ มีดังนี้ กรณีลดเพดานดอกเบี้ย แบ่งเป็น สำหรับหนี้บัตรเครดิต ลดเพดานดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 16 ส่วนกรณีสินเชื่อส่วนบุคคล (P-loan) แบ่งเป็น กรณีสินเชื่อที่มีวงเงินหมุนเวียน หรือบัตรกดเงินสด และ สินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดๆ เช่น สินเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดเพดานดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดเพดานดอกเบี้ยจากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 24 เนื่องจากมีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน โดยมาตรการนี้เป็นมาตรการถาวร มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2563 เป็นต้นไป

มาตรการแบงก์ชาติช่วยเหลือเศรษฐกิจกระทบโควิด-0.jpgมาตรการแบงก์ชาติช่วยเหลือเศรษฐกิจกระทบโควิด-00.jpg

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

กรณีมาตรการขยายวงเงินสินเชื่อ คือให้สถาบันการเงินขยายวงเงินแก่ลูกหนี้ชำระหนี้ดีต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม สามารถขยายเพิ่มเป็น 2 เท่าของรายได้ จากเดิมให้เพียง 1.5 เท่าของรายได้ ซึ่งมาตรการนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และเป็นมาตรการชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2563-31 ธ.ค. 2564

สำหรับมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำของสถาบันการเงินที่เห็นร่วมกัน ในกรณีสินเชื่อบัตรเครดิต ให้สามารถยืดระยะเวลาสินเชื่อเป็น 48 งวด ได้ หรือขยายเวลาชำระหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 12 กรณีสินเชื่อบัตรกดเงินสด ให้ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำ ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และเปลี่ยนระยะเวลาสินเชื่อเป็น 48 งวด (หรือ 4 ปี) หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 22 กรณีสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวดหรือสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดค่างวดลงอย่างน้อยร้อยละ 30 และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 22 

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน มาตรการในระยะที่ 2 นี้ ปลดล็อกการจำกัดวงเงินสินเชื่อ จากเดิมสินเชื่อเช่าซื้อ กรณีมอเตอร์ไซค์ ต้องไม่เกิน 35,000 บาท รถยนต์ทุกประเภทต้องไม่เกิน 250,000 บาท สินเชื่อบ้าน เดิมจำกัดวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการระยะ 2 คือไม่จำกัดวงเงิน พร้อมกับให้เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) ไปอีก 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยการขยายเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้เพิ่มเติมได้ เป็นต้น 

มาตรการแบงก์ชาติช่วยเหลือเศรษฐกิจกระทบโควิด-1.jpg

"มาตรการนี้รองรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้เก่าที่ได้รับสิทธิในมาตรการแรกไปแล้ว และกำลังจะครบกำหนดก็มาต่อได้ หรือลูกหนี้ที่ไม่เคยเข้ามาตรการก็มาเข้ามาตรการนี้ได้ รองรับได้หมด" นางธัญญนิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ยังตระหนักถึงอุปสรรคปัญหาที่ลูกหนี้อีกหลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ จึงแนะนำสอบถามกับสถาบันการเงินโดยตรง หรือหากไม่ได้รับความสะดวกสามารถสอบถามกับศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หมายเลข 1213 ของธปท. รวมถึงการร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ 'ทางด่วนแก้หนี้' เพื่อกรอกข้อมูลปัญหาที่ลูกหนี้ประสบ และทางเจ้าหน้าที่ ธปท.ที่ดูแลจะนำเรื่องติดต่อกับสถาบันการเงินให้ โดยที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดให้บริการช่องทางทางด่วนแก้หนี้เมื่อเดือน เม.ย. 2563 พบว่า มีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 7-8 พันราย และมีอัตราตอบกลับคือสามารถติดต่อแก้ปัญหาและปิดเรื่องได้ร้อยละ 70 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :