'ดีวีพี' หรือ Deep Knowledge Ventures บริษัทลงทุนด้านสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ ฟินเทค และการเก็บข้อมูลบิ๊กดาตา เผยผลจัดอันดับประเทศและเขตปกครองที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลก โดย ประเมินจากข้อมูลสาธารณะ ของ 'องค์การอนามัยโลก' (WHO) มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 ทั่วโลก นับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึง 31 มี.ค.2563
ผลการจัดอันดับปรากฎว่า 'อิสราเอล' มีคะแนนความปลอดภัยด้านสุขภาพ ที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่อันดับ 2-10 ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮังการี ออสเตรีย เยอรมนี และ เกาหลีใต้
Israel was ranked as #1 Country by #COVID2019 Safety Ranking on March, 31. Below is the ranking score breakdown. The full methodology is available upon request.
— Deep Knowledge Group (@DeepTech_VC) April 9, 2020
Updated rankings will be released on the 14th of April.https://t.co/pGgkYwTUGM@IsraeliPM_heb @IsraeliPM pic.twitter.com/nEKzQUfmwW
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีคะแนนรวมความปลอดภัยด้านสุขภาพ รวม 198.2 คะแนน ติดอันดับ 24 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนประเทศที่มีคะแนนรองลงไป ได้แก่ บรูไน (126 คะแนน) และมาเลเซีย (72.6 คะแนน)
อย่างไรก็ตาม ผลจัดอันดับ ประเทศที่มีประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลก ไม่เหมือนกับประเด็นความปลอดภัยด้านสุขภาพ โดย 'สิงคโปร์' มีคะแนนในด้านนี้สูงสุด ตามด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรีย อิสราเอล และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
ส่วนไทยมีคะแนนด้านประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 รวม 9.5 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 1 ของโลก) และบรูไน (อันดับ 15)
นอกจากจะเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเมือง 'สหรัฐอเมริกา' ติดอันดับ 1 ประเทศเสี่ยงภัยโควิด-19 มากที่สุดในโลกตอนนี้ด้วย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ 2-10 คือ อิตาลี อินโดนีเซีย สเปน อิรัก อิหร่าน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และ ฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ดีวีพีอ้างเกณฑ์การให้คะแนนโดยอ้างอิงประสิทธิภาพในการป้องกัน ควบคุม และรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของแต่ละประเทศ ซึ่งพิจารณาจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
1. มาตรการกักตัว (Quarantine Efficiency) พิจารณาจาก ระยะเวลาดำเนินการ นานเท่าใด เหมาะสมหรือไม่ การเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ บทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการกักตัว การช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจแก่ประชากรที่ต้องกักตัว การระงับห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงมาตรการจำกัดหรือสกัดการเดินทาง
2. มาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ (Monitoring and Detection) พิจารณาจาก วิธีการและขอบเขตที่ใช้ในการตรวจคัดกรอง จำนวนประชากรที่ได้รับการตรวจสอบ ทั้งแบบสุ่มตรวจในวงกว้างและการตรวจสอบในโรงพยาบาล ผลการตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพในการชี้วัดการติดเชื้อได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจยืนยันผล การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจคัดกรองมีความทันสมัยและมีความเที่ยงตรงมากน้อยเพียงใด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ด้านการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19
3. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล (Government Management Efficiency) พิจารณาจาก ระบบตรวจสอบ ติดตามผล และการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ระดับการป้องกันความปลอดภัยและความมั่นคง ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของหน่วยงานรัฐบาล ความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายหรืออพยพประชากรจากพื้นที่เสี่ยง และปัจจัยบ่งชี้หรือการประเมินตัวแปรอื่นๆ
4. ความพร้อมด้านการรับมือและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Treatment Readiness) พิจารณาจากจำนวนเครื่องช่วยหายใจ เตียงในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ระดับความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุข ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข มีความพร้อมที่จะผลิตอุปกรณ์จำเป็นได้อย่างรวดเร็วมากน้อยเพียงใด รวมถึงการเคลื่อนย้าย-ลำเลียงทรัพยากรด้านสาธารณสุขจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพียงพอหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: