ที่อาคารรัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ รับยื่นหนังสือจาก สาธุ อนุโมทนามิ ตัวแทนกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก ในนามกลุ่ม 'สามัคคีสร้างชาติ' ซึ่งประกอบด้วยพรรคเล็ก 11 พรรค ได้แก่ พรรคราชสีห์ไทยดี พรรคกรีน พรรคแผ่นดินธรรม พรรคทางเลือกใหม่ พรรคพลังสังคม พรรคภาคีเครือข่ายไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคไทยธรรม พรรคยุทธศาสตร์ชาติ พรรคภาคีเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และ พรรคพลังเพื่อไทย เรื่องสนับสนุนแนวทางการคิดคะแนน ส.ส. พึงมี ด้วยวิธีการหารด้วย 500
พงศา ชูแนม ตัวแทนพรรคกรีน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการยื่นหนังสือ เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดเล็กเห็นว่า ความหมายของคำว่า ส.ส. พึงมี ต้องหมายถึง ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การเอาคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากทุกพรรคเป็นตัวตั้ง แล้วใช้ 100 หาร จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ก็จริง แต่ไม่สามารถอธิบายว่า ส.ส.พึงมี คือ ส.ส. ทุกคนได้เลย เพราะเป็นเฉพาะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เท่านั้น แต่คะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งกับส.ส. บัญชีรายชื่อ ต่างกันมากอย่างไร ไม่สามารถอธิบายได้
"กฏของมนุษย์คือ ผู้แข็งแรงต้องอยู่ร่วมกับผู้อ่อนแอได้ แต่ พ.ร.ป.ที่จะออกต่อจากนี้ไป ทุกพรรคต่างบอกว่า ฉันได้เปรียบ แปลว่าผู้แข็งแรงกำลังเอาเปรียบผู้อ่อนแอ ไม่ใช่กฎของมนุษย์ที่ควรจะเป็น" พงศา กล่าว
พงศา ยังระบุว่า การหารด้วยร้อยจะทำให้ตัวเลขของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นคะแนน 3.5 หมื่นคะแนนต่อเก้าอี้เป็นอย่างน้อย ขณะที่ตัวเลขคะแนน ที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อาจต้องการแค่ 10,000 คะแนน เท่านั้น เนื่องจากจำนวนประชากรลดลง ทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ การหารด้วย 100 นั้นอาจผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 91,92 และ 93 เพราะไม่สามารถอธิบายนิยามของคำว่า ส.ส.พึงมีได้เลย การคิดและออกกฎกติกาเช่นนี้ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ พรรคการเมืองขนาดเล็กถูกปิดโอกาสในการมีจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร
ด้าน ระวี กล่าวขอบคุณกลุ่มพรรคเล็กที่อยู่นอกสภาฯ สำหรับข้อคิดเห็น ตนมองว่าการปัดเศษเป็นการทำลายพรรคเล็ก และเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญ พรรคปัดเศษจะมี ส.ส. ได้ ต้องได้คะแนน 40,000- 50,000 คะแนน แล้วจะมองข้ามเสียงตกน้ำหลบหนีไปได้อย่างไร ส่วนการเลือกตั้งด้วยการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การคิดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก็เป็นการปัดเศษเช่นกัน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ออกแบบให้มีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกชนชั้นได้มีโอกาสเข้ามาเป็น ส.ส. การหาร 100 เป็นจงใจทำลายพรรคเล็ก เพื่อให้พรรคใหญ่เกิดการผูกขาดในสภาฯ