‘จิราพร สินธุไพร’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พบหารือกับ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus เลขาธิการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ในห้วง ‘การประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภค’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7–11 กรกฎาคม 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
โดยเลขาธิการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ประเทศไทยและองค์การอนามัยโลก มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการพัฒนาระบบสาธารณสุข พร้อมทั้งชื่นชมระบบสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็ง มีโครงสร้างที่สามารถเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักในชื่อ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่โดดเด่นในเวทีโลก ด้านการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข สามารถเป็นต้นแบบให้หลายประเทศนำไปศึกษาและปรับใช้
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเลขาธิการองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทำการตลาดที่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและรสชาติที่น่าดึงดูด รวมถึงบางประเทศมีการวางจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานศึกษา เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นางสาวจิราพรกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งได้เน้นไปที่การป้องกันลักลอบนำเข้ามาในประเทศ และการปูพรมปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทั้งร้านค้าที่มีที่ตั้งและร้านค้าออนไลน์ ผลการดำเนินการเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าได้มากกว่ายอดตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ยากขึ้น ซึ่งรัฐบาลดำเนินการปราบปรามควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์เน้นในสถานศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า
นางสาวจิราพรกล่าวต่อว่า การคุ้มครองผู้บริโภคมีความสอดคล้องกับภารกิจสำคัญขององค์การอนามัยโลกในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภคส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยตรง ดังนั้น สคบ. ยินดีที่จะทำงานร่วมกันกับองค์การอนามัยโลกในการสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือระหว่างกันและในระดับภูมิภาคในการแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านสุขภาพในยุคดิจิทัล รวมถึงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน