ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ก.ย. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 248,448,330 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ไปพลางก่อน แบ่งเป็น
ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 และดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 และวันที่ 17 ก.ย. 2562 ให้ครบถ้วนอย่างเคร่งครัด และตรวจสอบพื้นที่และจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงภารกิจของหน่วยงาน ความพร้อม ศักยภาพและความสามารถ วิธีการดำเนินการที่โปร่งใส
รวมทั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายจากกระทรวงการคลังก่อน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 แล้วแต่กรณี
โดยการดำเนินโครงการจะต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนกำหนดให้มีคู่มือหลักเกณฑ์ ขั้นตอนในการขอรับการจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายเงิน การติดตามและการรายงานผลการดำเนินโครงการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน การกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) แล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
จ่ายค่าจ้างเหมาทำลายไร่ละ 3,000 บาท -ชดเชยเกษตรกรอีกไร่ละ 3,000 บาท
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ได้ประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ระบาดใน 11 จังหวัด โดยเห็นชอบขอใช้งบกลาง 286 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ้างเหมาทำลายมันสำปะหลังที่เป็นโรค เพื่อไม่ให้มีการระบาดเพิ่มเติม โดยเสนอของบประมาณจ่ายค่าจ้างเหมาทำลายมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ติดโรคใบด่างไร่ละ 3,000 บาท วงเงิน 136 ล้านบาท รวมถึงจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท อีก 136 ล้านบาท และอีก 14 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการ
สำหรับเงื่อนไขการแจ้งการพบโรค จะต้องแจ้งตั้งแต่ 1 ต.ค.2562-30 มิ.ย.2563 และแปลงมันที่ปลูก ต้องขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2562 แต่ถ้าเกษตรกรยังใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก หลังจากวันที่ 30 ก.ย.2562 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาใช้ พ.ร.บ.กักกันพืช พ.ศ.2551 ประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สามารถทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ไม่ได้แจ้งหรือทำลาย จะไม่ได้รับค่าชดเชยจากโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่มีการระบาดของโรคใบด่าง มีพื้นที่ประมาณ 45,400 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศที่มีปริมาณ 5 ล้านไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: