ไม่พบผลการค้นหา
เตรียมพร้อม! สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมจังหวัดแพร่ เริ่มวิกฤติเอ่อล้นตลิ่งที่จุดวัดระดับน้ำห้วยสัก อำเภอสอง คาดมวลน้ำถึงตัวจังหวัดประมาณช่วงบ่ายๆ ถึงกลางดึกวันนี้ (22 ส.ค.2567)

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งมีระดับสูงขึ้น โดยน้ำจากอำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลลงสู่แม่น้ำยม ทำให้ตอนเหนือของจังหวัดแพร่ ณ จุดวัดระดับน้ำของอุทกวิทยา ในแม่น้ำยม ที่ Y 20 บ้านห้วยสัก อำเภอสอง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง โดยเริ่มล้นตลิ่งตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีระดับที่ 12.04 เมตร และขึ้นเรื่อย ๆ สูงสุด เวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ระดับที่ 12.72 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1716.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

2024082267727c2a7ab7f24153418e0be723460a154017.jpg

สำหรับจุดวัดระดับน้ำที่บ้านน้ำโค้ง ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ที่ Y1C บ้านน้ำโค้ง อำเภอเมืองแพร่ ระดับน้ำ เวลา 09.00 น. ของวันนี้ (22 ส.ค.67) อยู่ที่ 8.16 เมตร ระดับตลิ่ง 8.20 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 985.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่นบ้านร้องขี้ปลา ตำบลป่าแมต ชุมชนเชตวัน ชุมชนบ้านใหม่หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เขตเทศบาลเมืองแพร่ 

นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแพร่ได้ขอกำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ กองพลทหารม้าที่ 1 โดยการประสานงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแพร่ ดำเนินการนำกระสอบทรายไปเตรียมอุดน้ำเมื่อ น้ำเอ่อล้น และนำกำลังทหารไปช่วยประชาชนขนย้ายข้าวของ โดยนายกเทศมนตรีเมืองแพร่กล่าวว่า มวลน้ำจากอำเภอสองน่าจะมาในช่วงบ่ายๆ ถึงกลางดึกวันนี้ ซึ่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ นำรถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเก็บสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นสู่ที่สูง พร้อมเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลจังกวัดแพร่ เพื่อสูบน้ำระบายออกจากตัวเมืองเก่า กรณีปิดท่อระบายน้ำป้องกันน้ำจากแม่น้ำยมทะลักเข้าสู่ชุมชนชั้นใน

20240822e3c072d53f11d720c9a6af472f4d5b1e171607.JPG

ด้านนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า จังหวัดแพร่ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กรณีอุทกภัยขึ้น เพื่อดำเนินการประสานงานและช่วยเหลือติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ โดยจังหวัดแพร่ได้ติดตามปริมาณน้ำจากจังหวัดพะเยามาโดยตลอด และได้ประชุมการบริหารจัดการน้ำ และมีการวางแผนรับสถานการณ์น้ำ โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำยมเข้าสู่ระบบคลองส่งน้ำของทั้งสองฝั่งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม ซึ่งอยู่ที่อำเภอสอง เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาสู่ตัวจังหวัดให้น้อยลง และอาจจะปล่อยให้น้ำเข้าพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ซึ่งเป็นระยะไม่นาน อาจจะไม่เสียหาย แต่ถ้าเกิดความเสียหายทางราชการสามารถชดเชยให้ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าปริมาณน้ำที่มาถึงตัวจังหวัดจริงๆ จะได้ไม่รุนแรงและท่วมชุมชนแหล่งเศรษฐกิจ 

นางสาวรำพู จันต๊ะปะตุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่กล่าวว่า จากการคาดการณ์และความเป็นไปได้ของมวลน้ำที่มาจากจังหวัดพะเยา มีปริมาณคล้ายๆกับปี 2554 ซึ่งมีปริมาณน้ำทางเหนือจากอำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลลงสู่แม่น้ำยม เข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ โดยเมื่อปี 2554 นั้นจังหวัดแพร่ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงการฝายแม่ยม ซึ่งอยู่ที่อำเภอสอง และการขุดรอกพื้นที่ต่างๆ ยังไม่เพียงพอ แต่ปีนี้เรามีฝายแม่ยมที่ก่อสร้างใหม่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม มีคลองส่งน้ำสายใหญ่ทั้งสองฝั่ง สามารถช่วยระบายน้ำให้กระจายออกไปจนถึงอำเภอเด่นชัย เพื่อระบายน้ำบางส่วน ให้ไหลอ้อมตัวจังหวัด เพื่อลดผลกระทบของอุทกภัยลง

20240822e3c072d53f11d720c9a6af472f4d5b1e171607.JPG

นายอัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กล่าวว่า ในจังหวัดแพร่ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ได้ติดตามน้ำ ซึ่งมีน้ำไหลมาจากจังหวัดพะเยา และลงสู่แม่น้ำยม ในปี 2554 มีพายุเข้าหลายลูกมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำสะสมมีมากในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ในปีนี้มีปริมาณฝนตกอยู่ที่ต้นน้ำยม แต่ในพื้นที่จังหวัดแพร่นั้นมีฝนตกไม่มาก ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ซึ่งมีก้อนใหญ่นี้ระบายลงไปสู่ด้านล่าง ในส่วนของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางของจังหวัดแพร่ ก็ยังสามารถรองรับน้ำได้ ซึ่งได้มีการบริหารจัดการน้ำมา 6 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไม่น่าเป็นห่วงเหมือนปี 2554