ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมเดินหน้าให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนจากภัยแล้ง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 16/2563 ซึ่งได้ประชุมผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ และเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 20 – 22 เม.ย. 63 ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนช่วงวันที่ 23 – 25 เม.ย.63 ประเทศไทยตอนบนอาจมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้นเช่นกัน

93655443_4068565376549805_9216109852747628544_o.jpg


ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(20 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 36,319 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,631 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,844 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,148 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (20 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 16,128 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,337 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนจัดสรรน้ำฯ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างฯต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยส่งน้ำได้เฉพาะอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้กรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 60 จังหวัด 205 อำเภอ 329 ตำบล 658 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 69 แห่ง พื้นที่ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรอีก 67 แห่ง จึงได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 67 คัน เข้าไปแจกจ่ายน้ำให้กับราษฎร คิดเป็นปริมาณน้ำสะสมประมาณ 5 ล้านลิตร

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 392 เครื่อง เครื่องจักรอื่นๆ รวม 158 หน่วย เข้าไปช่วยเหลือด้วย รวมไปถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบ 53 แห่ง ซึ่งกรมชลประทาน จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มศักยภาพ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนตกชุกในระยะต่อไป หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460