ชาร์ลส์ มิเชล ประธานรัฐสภายุโรปยกย่องว่า การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้เป็น “ความสำเร็จครั้งสำคัญ” หลังจากการหารือตลอดช่วงคืนวันจันทร์ (30 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยมิเชลเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาการคว่ำบาตรให้ “ครอบคลุมมากถึงสองในสามของการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในทันที ทำให้แหล่งเงินทุนก้อนโตของเครื่องจักรสงครามลดลง”
นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายุโรปยังได้ระบุว่า การหารือยังพูดคุยถึงการจำกัดการเข้าถึงระบบโอนเงินข้ามประเทศสวิฟต์ ของธนาคารเจ้าใหญ่ที่สุดในรัสเซียอย่าง Sberbank รวมถึงการแบนสื่อของรัฐบาลรัสเซียอีกสามเจ้า อีกทั้งการคว่ำบาตรต่อ “บุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน”
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกมาแสดงความยินดีถึงความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป เพื่อต่อต้าน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดียูเครนวิจารณ์ถึงความล่าช้า ในการตัดสินใจคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียของสหภาพยุโรปในก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ผู้นำชาติสหภาพยุโรปพยายามหาทางบรรลุข้อตกลงท่ามกลางสถานการณ์ที่ วิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีฝ่ายขวา ได้ออกตัวเข้าข้างรัสเซียอย่างชัดเจน
ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุได้ด้วยการประนีประนอม ทั้งนี้ ชาติต่างๆ ของสหภาพยุโรปจะทำการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ยกเว้นน้ำมันที่จะนำเข้ามาผ่านทางท่อส่งน้ำมันดรุชบา ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ยุคอดีตสหภาพโซเวียต ในการส่งน้ำมันเข้ามายังฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรการการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในครั้งนี้
อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า การบรรลุข้อตกลงคว่ำบาตรทั้ง 6 ชุดเป็น “การก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญ” และสหภาพยุโรปได้ตกลงใน “การลงทุนอย่างมหาศาลในภาคพลังงานหมุนเวียน” เพื่อชดเชยการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียอย่างที่สหภาพยุโรปเคยมีมา
ตลอดระะยะเวลาเกือบสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มาตรการการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียของสหภาพยุโรปพบกับความชะงักงัน หลังจาก ฟ็อน แดร์ ไลเอิน เสนอให้สภาพยุโรปทำการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียโดยสิ้นเชิงภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่มาตรการดังกล่าวถูกฮังการีต่อต้านอย่างหนัก ทั้งนี้ ฮังการีเป็นหนึ่งในชาติที่ยอมจ่ายค่าพลังงานรัสเซียในสกุลเงินรูเบิลตามข้อบังคับของทางการรัสเซีย
อีกหนึ่งชาติที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นหลักในสหภาพยุโรป คือ เยอรมนี โดย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ออกมาระบุก่อนการบรรลุมติว่า ตนมั่นใจว่าจะมี “ทางออกที่ดี” ในการคว่ำบาตรน้ำมัน โดยเยอรมนีและโปแลนด์เป็นสองชาติที่มอบคำสัญญาว่าตนจะค่อยๆ ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจนกลายเป็นศูนย์ภายในสิ้นปีนี้ มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดดังกล่าว จะครอบคลุมการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถึง 93% ของที่รัสเซียมีอยู่
นอกจากมาตรการคว่ำบาตรแล้ว มีการคาดว่าสหภาพยุโรปจะลงมติรับรองเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ยูเครนมูลค่า 9 พันล้านยูโร (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) โดยยังไม่มีการตัดสินใจว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือจะเป็นการมอบเงินให้เปล่าโดยไม่ต้องจ่ายคืน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ายูเครนจะต้องใช้เงินกว่าหลายแสนล้านยูโรเพื่อกลับมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ หลังจากถูกรัสเซียทำการรุกรานและยิงถล่มจนประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนักมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ที่มา: