ไม่พบผลการค้นหา
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำขณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เข้าเยี่ยมคารวะ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เข้าเยี่ยมคารวะ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินกลางใน กรุงเทพมหานคร 

DSC_8737.jpg

โดย นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา กล่าวต้อนรับ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม พร้อมหารือข้อราชการร่วมกันเพื่อประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมในด้านต่าง ๆ 

สำหรับนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล เดิมดำรงตำแหน่ง ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดย นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล นับเป็นประธานศาลฎีกาหญิง คนที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก นางเมทินี ชโลธร, นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม เเละ นางอโนชา ชีวิตโสภณ โดยจบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ประกาศนียบัตรหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 22  

นางชนากานต์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มากมาย เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพิษณุโลก, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลล้มละลายกลาง, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้, รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9

ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และประธานศาลฎีกา คนที่ 50  

สำหรับตำแหน่งประธานศาลฎีกา ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ในระบบตุลาการของประเทศไทย มีฐานะเป็น ประมุขของฝ่ายตุลาการ มีอำนาจหน้าที่ในการวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน ดูแลผู้พิพากษาศาลยุติธรรมให้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้ถูกต้อง รวมทั้งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและบริหารราชการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นบทบาทภารกิจที่เพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

DSC_8827.jpg