ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กกต. ยันไม่ยื่นศาล รธน.ตีความปมจำนวนราษฎรใช้คำนวณ ส.ส. แบ่งเขต เสนอ 3 สูตรคำนวณค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งหารือในเรื่องของการติดป้ายประกาศ ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และวิธีการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง (ไพรมารีโหวต) เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งส.ส. ว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดไว้รวม 3 รูปแบบ 

1. กกต. คำนวณเอง ร่วมกับปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดัชนีราคาผู้บริโภค น้ำมันดีเซล ราคาไม้อัดราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น) ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) และฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) ทั้งนี้ หากสภาฯอยู่ครบวาระ ค่าใช้จ่ายสำหรับ ส.ส. กำหนดไว้ที่ 6.5 ล้านบาท ส่วนพรรคการเมือง กำหนดไว้ที่ 152 ล้านบาท

2. หากเกิดการยุบสภาฯ ทาง กกต.ได้นำปัจจัยทั้ง 7 ข้างต้น ไปหารือร่วมกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช่จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่กกต.ตั้งไว้ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับ ส.ส. กำหนดไว้ที่ 1.74 ล้านบาท ส่วนพรรคการเมืองอยู่ที่ 40.6 ล้านบาท

3.เป็นข้อเสนอจาก 3 หน่วยงาน ว่าให้คำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย 

ทั้งนี้ การเสนอทั้ง 3 รูปแบบได้มีการเสนอให้ผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย มีทั้งที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดย กกต. มีแบบสอบถามให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นสำนักงานกกต. ดำเนินการประมวลความเห็นทั้งหมด เพื่อส่งให้ที่ประชุมกกต. พิจารณาตัวเลขที่เหมาะสม ก่อนที่จะออกประกาศ

สำหรับการติดป้ายหาเสียงประเด็นที่พรรคการเมืองสอบถาม คือ ต้องการทราบว่าสามารถติดป้ายไว้ที่ใดบ้าง ส่วนขนาดมีทั้งที่มองว่าที่ กกต. กำหนดใหญ่หรือเล็กเกินไป แทนที่จะให้พรรคเป็นผู้ดำเนินการ กกต. ควรเป็นคนกำหนด และมีข้อเสนอในเรื่องของสถานที่ติดป้ายประกาศว่ากกต.ควรจะเป็นผู้กำหนด

นอกจากนี้ อิทธิพร ยังกล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ที่มีการนำจำนวนราษฎรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.สและแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า ยืนยันว่ากกต.ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 86 บัญญัติไว้ ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยมีทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้จะเห็นว่าให้เอาจำนวนราษฎร ทั่วราชอาณาจักรมาพิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ยึดหลักการนี้ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด

เมื่อถามว่าเป็นห่วงว่าจะมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าราษฎร แล้วจะมีผลต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ อิทธิพร ยืนยันว่า เราทำตามที่กฎหมายเขียนไว้ ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ 

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐาน อิทธิพร กล่าวว่า เราเห็นว่า สิ่งที่เราพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายแล้ว

เมื่อถามต่อว่า นั่นหมายความว่า กกต.จะไม่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ วิษณุ เสนอใช่หรือไม่ อิทธิพร กล่าวว่า เวลานี้เราไม่ได้คิดอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ในรูปแบบที่ 2 ที่กกต.มีการนำปัจจัย 7 ประการ ในการคิดคำนวณไปหารือกับ 3 หน่วยงาน พบว่า มีการให้นำดัชนีราคาผู้บริโภค จากปีฐานคือปี 2562 มาคำนวณด้วยซึ่งก็จะทำให้กรณีครบวาระผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 7 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 163 ล้านบาท แต่ถ้ายุบสภาแบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 1.9 ล้านบาท และบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นการคิดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2562-2565 จะพบว่าในกรณีอยู่ครบวาระผู้สมัครแบบแบ่งเขต จะใช้ค่าใช้จ่ายได้ 6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 141 ล้านบาท และหากกรณียุบสภาแบบแบ่งเขตสามารถใช้ได้ 1.6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 38 ล้านบาท