ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมนิติศาสตร์ มธ. ถอดบทเรียนกรณีโฮปเวลล์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้สิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ ชี้ควรแก้กฎหมายอนุญาโตตุลาการป้องกันเสียค่าโง่ในอนาคต พร้อมจี้รัฐเปิดเผยสัญญาเพื่อความโปร่งใส และสร้างกระบวนการเอาผิดย้อนหลัง

ในงานสัมมนาวิชาการ “ถอดบทเรียนกรณีศึกษาคดีโฮปเวลล์” ที่จัดโดยสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการพูดถึงประเด็นคำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ที่มีผลกระทบกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสมาคมฯ เห็นสมควรว่ารัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องใช้สิทธิในการต่อสู้ทางกฎหมาย เช่น การใช้สิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และติดตามสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า การมีส่วนบกพร่องและต้องรับผิดชอบอย่างไรทั้งทางแพ่งและอาญา มิใช่มีท่าทีให้รีบชำระหนี้ หรือนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปให้เอกชน 

ทั้งนี้เห็นว่าควรแก้กฎหมายเพื่อกำหนดว่ากรณีที่ศาลจะเห็นว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เมื่อคู่กรณีแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ศาลจะต้องตรวจสอบถึงการรับฟังข้อเท็จจริง การตีความกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การตีความสัญญา และการปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ มิใช่ดูแต่เพียงผลของคำวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ แล้วตัดสินให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ตรวจสอบลงไปในรายละเอียด

สมาคมฯ ขอเรียกร้องไปยังนักนิติศาสตร์ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือศาลที่พิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาการปกครองจะต้องพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทให้ถูกต้องเป็นธรรมโดยคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองประโยชน์ของเอกชนและการรักษาประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้การวินิจฉัยข้อพิพาทได้รับการยอมรับของสังคมและประชาชน โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย

อนันต์ จันทรโอภากร

ศ.ดร.อนันต์ จันทรโอภากร กรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายสากล มีผลโดยตรงกับการทำธุรกิจระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยเฉพาะการทำสัญญากับเอกชนจากต่างประเทศ แม้จะมีช่องโหว่ ทั้งการเขียนกฎหมายที่จำกัด และการดำเนินการของรัฐที่ไม่ใช้ข้อกฎหมายในการดำเนินการกับเอกชนก่อน ทั้งที่ผิดสัญญา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นการที่รัฐฟ้องเอกชนก่อน ดังนั้นแนะว่าต้องทำให้โปร่งใสตั้งแต่คนนำเสนอโครงการ คนเซ็นโครงการ และคนบริหารโครงการ โดยทุกขั้นตอนควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส เนื่องจากส่วนมากผู้ที่เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอนส่วนใหญ่เกษียณ หรือตายไปแล้ว

ด้าน รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีศึกษาที่สำคัญจากคดีนี้ คือ เจ้าหน้าที่รัฐต้องถูกตรวจสอบด้วยว่ามีการทำให้เกิดการข้ามขั้นตอนโดยมิชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งการตัดสินคดีศาลปกครองไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ เพราะมีความเห็นว่าผลการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของชาติ แต่ยังมีข้อสงสัยว่ามีการตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ เพราะหากมีปัจจัยที่ขัดกับเรื่องดังกล่าวศาลปกครองจะสามารถปัดตกการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการได้

กิตติศักดิ์ ปรกติ

เช่นเดียวกับคดีค่าชดเชยทางด่วนในอดีตที่เจ้าหน้าที่ส่อพิรุธทุจริต โดยเห็นว่าประเทศไทยควรมีการตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้เป็นผู้เกี่ยวข้อง หากในอนาคตพบข้อผิดพลาดแบบเดียวกับกรณีโฮปเวลล์ กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะต้องรับโทษย้อนหลังด้วย หากทำได้จะส่งผลให้บุคลากรที่จงใจทุจริตจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในอนาคต

สหธน รัตนไพจิตร