ไม่พบผลการค้นหา
นิทรรศการสวีเดนท้าทายค่านิยมบูชาความสำเร็จด้วยการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จให้ทุกคนได้เห็นว่า ใหญ่แค่ไหนก็มีพลาด และความล้มเหลวเป็นเพียงกระบวนการที่ต้องผ่าน เพื่อพัฒนานวัตกรรม

เปิดมือถือขึ้นมาสไลด์มองไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องราวคนประสบความสำเร็จ ย้อนกลับมาดูตัวเรามีแต่เรื่องเฟลๆ ที่อยากหมกไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ ดร.ซามูเอล เวสต์ (Samuel West) นักจิตวิทยา วัย 44 ปี ผู้ยังคงมีสายตาของความเป็นเด็กได้รวบรวมความล้มเหลวของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว (Museum of Failure) เพื่อบอกกับเราว่าไม่ว่าใครก็ล้วนเคยทำพลาดกันทั้งนั้น

“เรารู้ว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ของโปรเจกต์สร้างนวัตกรรมล้มเหลว แต่ผู้คนไม่เคยได้อ่าน ไม่เห็น และไม่พูดถึงพวกมันเลย” ดร. ซามูเอล กล่าว

สิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์กว่าร้อยชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมในเมืองเฮลซิงบอรย์ ประเทศสวีเดน มีทั้งสินค้าที่ไม่นึกฝันว่าจะมีออกมาให้เห็น อย่างซอสมะเขือเทศสีเขียวของไฮนซ์

https://i.ebayimg.com/images/g/GkMAAOSw4jFa3vBi/s-l1600.jpg
  • ซอสมะเขือเทศสีเขียวโดยไฮนซ์ (ภาพจาก ebay)

อีกทั้งยังมี Twitter Peek อุปกรณ์พกพาที่ใช้เล่นทวิตเตอร์ได้เพียงอย่างเดียว ดีวีดีภาพยนตร์แบบดูแล้วทิ้ง ที่หมดอายุ 48 ชั่วโมงหลังเปิดดูครั้งแรก หน้ากากเสริมสวยที่ดูเหมือนเครื่องทรมานมากกว่า เพราะทำงานด้วยการช็อตไฟฟ้าใส่หน้าของผู้สวม

rejuvenique-electrical-facial-mask-FAILURE0417.jpg
  • Rejuvenique หน้ากากเสริมสวยที่ทำงานด้วยการช็อตไฟฟ้า

ตลอดจนลาซานญ่าเนื้อจากคอลเกต ที่ผลิตออกมาโดยคิดว่าคนจะได้กินอาหารเย็นของคอลเกต แล้วก็แปรงฟันต่อด้วยยาสีฟันของคอลเกตไปเลย แต่ใครจะอยากกินอาหารจากบริษัทยาสีฟันกันล่ะ

ถึงอย่างนั้นหากเราตั้งใจมองสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ในมุมใหม่ เราก็อาจได้เห็นว่าหลายๆ ครั้งความล้มเหลวไม่ใช่ตราบาป แต่เป็นทางผ่านเพื่อไปสู่ความสำเร็จที่ยังมาไม่ถึง เพราะแม้แต่บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกก็ล้วนมีนวัตกรรมที่ไม่สบความสำเร็จสักเท่าไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโนเกีย N-Gage อุปกรณ์ลูกครึ่งที่พยายามจะเป็นทั้งมือถือและเครื่องเล่นเกมแต่ก็ไปไม่สุดสักทาง

000_HKG2003092884225.jpg
  • Nokia N-Gage

Google Glasses แว่นตาอัจฉริยะที่มาก่อนกาล ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เป็นมิตร ราคาสูงลิ่ว ปัญหาเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และฟังก์ชันต่างๆ ที่ดูเหมือนยังเป็นเพียงตัวต้นแบบ หรือแม้แต่เครื่อง Apple Newton ของแอปเปิลที่แม้จะล้มเหลวแต่ก็กรุยทางสู่การมาของไอโฟนและไอแพดที่ปฏิวัติวงการมือถือไป

000_Was8480420.jpg
  • Google Glasses

ในฐานะผู้ที่เคยวิจัยว่า จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่สร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดีขึ้นอย่างไร ดร. ซามูเอล มองว่าการลองเสี่ยง และล้มเหลวบ้างไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป แต่มันเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้น

“ผมพยายามหาแนวทางใหม่ในการสื่อสารสิ่งที่ผมค้นพบจากงานวิจัยออกไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และทำให้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้จากความล้มเหลวน่าสนใจขึ้น แล้วผมคิดว่าจัดเป็นนิทรรศการก็น่าสนุกดี

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเริ่มทำพิพิธภัณฑ์นี้ก็เพราะผมเบื่อเต็มทีกับ ‘เรื่องราวความสำเร็จ’ ที่มีให้เห็นอยู่ทุกที่ ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เราถูกบังคับให้เสพแต่เรื่องราวความสำเร็จตลอดเวลา ผมเบื่อเหลือเกินที่เราเอาแต่บูชาความสำเร็จกัน สังคมเชิดชูความสำเร็จ แล้วก็ทำให้ความล้มเหลวกลายเป็นตราบาป มองไปทางไหนผมก็เห็นแต่เรื่องราวความสำเร็จ แต่ปกติแล้วมักจะไม่เห็นเค้าเลยว่าความสำเร็จเหล่านั้นก็ล้วนมีความล้มเหลว ข้อผิดพลาด และความยากลำบากเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น”

000_UZ2UU.jpg
  • ดร.ซามูเอล เวสต์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว

นอกจากจะได้รับความนิยมที่สวีเดนแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวแห่งนี้ยังถูกนำบางส่วนไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ตามเมืองต่างๆ อย่างลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ให้ผู้คนทั่วโลกได้พากันมารับชมอีกด้วย

“เสียงตอบรับที่น่าสนใจที่ผมได้รับจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ก็คือพวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับการปลดปล่อย พวกเขาได้เห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ อย่างโคคา-โคล่า, แอปเปิล, หรือกูเกิล ก็ล้มเหลวเหมือนกันเวลาลองพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราในฐานะปัจเจกคนหนึ่งรู้สึกเหมือนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ มันบอกเราว่าเวลาพยายามจะเรียนรู้ทักษะหรือความรู้ใหม่ๆ จะล้มเหลวบ้างก็ไม่เป็นไร” ดร. ซามูเอล กล่าว


ชมคลิป

อ้างอิงจาก:

On Being
198Article
0Video
0Blog