25 ก.ย. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญามีคำพิพากษา อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ทลายเพดานการปราศรัยถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตรย์กับสังคมไทย โดยศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่ อานนท์ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากการกล่าวคำปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของอานนท์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี และมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างยืนขอประกันตัว เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
16.16 น. ศูนย์ทนายรายงานเพิ่มเติมว่า ศาลอาญาได้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปยังศาลอุทธรรืเพื่อพิจารณา โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 วันจึงจะมีคำสั่ง ทำให้วันนี้อานนท์ จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที
สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้
คดีนี้อานนท์ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะที่อยู่ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยอัยการบรรยายฟ้อง มีใจความสำคัญระบุว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 อานนท์ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านทางเฟซบุ๊กของตนเอง ให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์ โดยในการจัดการชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และเมื่อมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อานนท์กับพวกก็ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลการชุมนุมในพื้นที่นั้น ๆ
ทั้งมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและฟังปราศรัยเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 คน โดยยืนกันอยู่เต็มถนนราชดำเนิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาได้ อีกทั้งเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าแจ้งกับจำเลยและพวกให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด จำเลยพวกได้รับทราบคำสั่งแล้ว แต่ไม่ยุติการชุมนุม
อัยการยังบรรยายฟ้องว่า อานนท์และพวกได้ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ นำกระถางต้นไม้ที่วางประดับโดยรอบฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทำให้เกิดความเสียหายของกิ่งไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 รายการ รวมเป็นมูลค่า 273,700 บาท
นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมซึ่งเป็นการกล่าวถึง รัชกาลที่ 10 และการสลายการชุมนุม
ทั้งนี้อานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาด้วยว่า วันนี้ตนกำลังใจยังดี ตนขอขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกคน ทั้งคนที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ขอขอบคุณทุกท่านที่มาให้กำลังใจในวันนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด
เมื่อถามว่าการต่อสู้ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพไปจากคำพิพากษาในวันนี้จะถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ อานนท์ ตอบว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาถือว่าคุ้มค่า เพราะคำพิพากษาในวันนี้จากกรณีชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งตนปราศรัยปรามไม่ให้ตำรวจมาสลายการชุมนุม วันนี้อาจจะสูญเสียเสรีภาพจากคำพิพากษาซึ่งอาจจะหลายปีหน่อย แต่ก็คุ้มค่าเพราะวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตอนเราเดินขบวนจากราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล ไม่เกิดการสูญเสีย ถือว่าเป็นการเสียเสรีภาพส่วนตัวที่คุ้มค่าต่อส่วนรวมด้วยความเต็มใจ
เมื่อถามว่าเมื่อ อานนท์ต้องเสียอิสรภาพ คิดว่านักกิจกรรมหรือประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวต่อหรือไม่ อานนท์ ตอบว่า ตนมีมีว่าการเคลื่อนไหวยังมีอยู่เรื่อยๆ การผ่อนไปตามสถานการณ์ก็มี แต่ว่าเราจะไม่หยุด การต่อสู้มันมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่า เราต่อสู้เพื่ออะไร